สมาคมตราสารหนี้ ชี้ 9 เดือนปีนี้ยังมีหุ้นกู้ครบอายุไถ่ถอนอีกเกือบ 7 แสนล้าน ระบุไตรมาส 2 เยอะสุด 2.5 แสนลบ. เฉพาะเม.ย. ยอดไถ่ถอนสูง 1.1 แสนลบ. นำโดยกลุ่มแบงก์ พร้อมยื่นไฟลิ่งรองรับโรลโอเวอร์ มั่นใจปีนี้ออกหุ้นกู้ใหม่เข้าเป้า 1 ล้านล้าน ส่วนหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระยังค้างในระบบราว 1.6 หมื่น ลบ. แค่ 1%ของทั้งตลาด มองไม่กระทบต่อตลาดรวม หวังดอกเบี้ยขาลงจะช่วยฟื้นธุรกิจเหล่านี้กลับมา เผยผลสำรวจคาด กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 67 ประมาณ 2 ครั้ง รวม 0.5% และมีโอกาสสูงที่ กนง. จะเริ่มลดในการประชุม มิถุนายนนี้
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยถึงภาวะตลาดตราสารหนี้ของไทย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 ว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17.0 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.0% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและ ธปท. เป็นหลัก ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 207,126 ล้านบาท หุ้นกู้ที่ออกส่วนใหญ่กว่า 93% อยู่ในกลุ่ม Investment grade ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เงินทุนและหลักทรัพย์ และอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับคาดการณ์ในปีนี้ เชื่อว่าจะมีหุ้นกู้ออกใหม่ราว 9 แสน ถึง 1 ล้านล้านบาทตามที่ได้คาดไว้เมื่อต้นปีนี้
โดยในช่วงที่เหลือ 3 ไตรมาสของปี 2567 นี้ จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน มูลค่ารวมประมาณ 696,411 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ Investment Grade มีสัดส่วน 90%ของหุ้นกู้ระยะยาวครบอายุและหุ้นกู้ High Yield หรือกลุ่มที่มีเรตติ้งต่ำกว่า BBB- ลงจนถึงหุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง มีสัดส่วนรวม 10% ของหุ้นกู้ระยะยาวครบอายุ
อย่างไรก็ตาม หากดูรายไตรมาส หุ้นกู้ที่ครบอายุส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงไตรมาส 2 นี้จำนวนราว 2.5 แสนล้านบาท ส่วนไตรมาส 3 มีหุ้นกู้ครบอายุ 233,551.66 ล้านบาทและไตรมาส 4 มีหุ้นกู้ครบอายุทั้งสิ้น 213,651.18 ล้านบาท
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ในไตรมาส 2 จะเห็นหุ้นกู้ครบกำหนดมากที่สุด โดยเฉพาะในเดือนเมษายน มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนมากที่สุด 1.1 แสนล้านบาท ซี่งก็น่าจะเห็นการออกใหม่เพื่อRollover มากที่สุดเช่นกัน
"เท่าที่เห็นมีบริษัทยื่นไฟลิ่ง (ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อขอออกหุ้นกู้ไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท ก็มีธนาคารหลายแห่ง เช่น ธนาคารทีเอ็มบี ธนชาต ธนาคารกรุงศรี SCBX บ้านปูเป็นต้น ตอนนี้เริ่มเห็นบรรยากาศกลับมาดีขึ้น ดอกเบี้ยเริ่มอ่อนลง หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งดอกเบี้ยโลกและดอกเบี้ยไทย ก็จะส่งผลให้ Bond yield (อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล) ปรับลดลงมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา ก็คาดว่ายอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวจะเป็นไปตามที่คาดไว้ "
นางสาวอริยา กล่าวถึงกรณีหุ้นกู้ที่มีปัญหาผิดนัดชำระ ว่า ปัจจุบันหุ้นกู้ที่ขอเลื่อนชำระไถ่ถอน ยังคงมีอยู่ประมาณ 16,363 ล้านบาท สัดส่วนไม่ถึง 1% ของตลาดหุ้นกู้ทั้งหมด ยังมองว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อโครงสร้างของตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนทั้งระบบ ขณะที่หุ้นกู้ที่มีปัญหาก็เป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ดังนั้นต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาและหากมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ก็เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ และหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็น่าจะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น
ดร. สมจินต์ ได้กล่าวถึงผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 2567 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้งรวม 0.5% ในปี 2567 โดยมีโอกาสสูงที่ กนง. จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนมิถุนายนนี้
สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าในปี 2567 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี อาจปรับตัวลดลงเฉลี่ย 5-10 bps. จากสิ้นไตรมาส 1 ปี2567 มาอยู่ที่ 2.13% และ 2.44% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2567 โดยปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อ Bond yield ในอนาคตคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ และสภาวะเศรษฐกิจของไทย
ทั้งนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve)ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีการปรับตัวลดลงในรุ่นอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดย Bond yield รุ่นอายุ 2 ปี ปรับลดลง 19 bps. 5 ปี ลดลง 21 bps. และ 10 ปี ลดลง 19 bps. จากสิ้นปี 2566 มาอยู่ที่2.15% 2.24% และ 2.51% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567
เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2567 อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ 5 ปี กลุ่มอันดับเครดิต AAA ถึง A ปรับลดลง 15-21 bps. จากสิ้นปี 2566 โดยอันดับเครดิต AAA ปรับลงมาอยู่ที่ 2.90% AA ที่ 3.17% และ A ที่ 3.44% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 ขณะที่หุ้นกู้อันดับเครดิต BBB+ และ BBB มีการปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4.68% และ 5.46% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรม Flight to quality ของผู้ลงทุนที่มีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น
กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติในไตรมาส 1 ของปี 2567 เป็นการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 34,305 ล้านบาท ทำให้มีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 9.0 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 5.3% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.8 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.6 ปี เมื่อสิ้นปี 2566