Economies

เงินบาทอ่อน ส่อแตะ 36.95 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดยังคงกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย-ลุ้นตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ
2 ก.ย. 2565

Krungthai Global Market  มองค่าเงินบาทยังคงผันผวนสูง และเสี่ยงที่จะอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 36.85 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดยังคงกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย รอลุ้นตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ

 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์


คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.90 บาท/ดอลลาร์ โดยประเมินแนวโน้มค่าเงินบาท ยังคงผันผวนสูง และเสี่ยงที่จะอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 36.85 บาทต่อดอลลาร์ และอาจอ่อนค่าทดสอบจุดสูงสุดในปีนี้แถว 36.95 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อมั่นการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น และความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยในภาวะตลาดผันผวน 


นอกจากนี้ เงินบาทอาจยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อาทิ แรงซื้อดอลลาร์จากฝั่งธุรกิจพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรงต่อเนื่อง รวมถึงแรงซื้อเงินเยน (JPY) ของฝั่งบริษัท MNC ญี่ปุ่น หลังเงินเยนได้อ่อนค่าต่อเนื่องทะลุระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (เราคาดว่าราคาทองคำในโซนแนวรับแถว 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะจูงใจให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อมากขึ้น เพื่อรอจังหวะขายทำกำไร หากราคาทองคำรีบาวด์สู่โซน 1,750-1.770 อีกครั้ง) ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่า
 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินแนวโน้มเงินบาทในช่วงนี้ หลังจากที่ นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาเป็นฝั่งขายสุทธิทั้งหุ้นและบอนด์ไทยในจำนวนที่สูงขึ้น (แรงขายหุ้นไทยกว่า 3.3 พันล้านบาทในวันก่อนหน้านั้น สวนทางกับสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้) อนึ่ง เรายังมองว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นไทย และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ (ราคาบอนด์ลดลง) จะยังคงเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยในจังหวะย่อตัวได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญอีกครั้ง
 

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
 


สำหรับสถานการณ์ในตลาดโลก ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและมองว่าเฟดมีโอกาสราว 74% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ต่อเนื่องในการประชุมเดือนกันยายน หลังจากที่ล่าสุด ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.3 แสนราย ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และสะท้อนภาวะตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่ อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.26% และกดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ในช่วงที่ผ่านมา ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนกลับมองการปรับตัวลงหนักของหุ้นกลุ่มเทคฯ เป็นโอกาสในการเข้าซื้อ (Buy on Dip) ส่งผลให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ รีบาวด์ขึ้น (Alphabet +1.4%, Amazon +0.8%) และช่วยพยุงให้ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ สามารถปิดตลาด +0.78% 


อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil -1.8%, Chevron -1.6%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากความกังวลการใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดอีกครั้งของจีน รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางและแนวโน้มที่อิหร่านอาจกำลังมาผลิตและส่งออกน้ำมัน
 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงกว่า -1.80% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวลงหนักจากผลกระทบของมาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดล่าสุด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเทขายหุ้นในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย/สินค้าแบรนด์เนมที่รายได้ส่วนใหญ่มากจากจีน อาทิ Hermes -2.5%, Kering -2.2% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงเทขายจากความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ความเสี่ยงวิกฤติพลังงาน รวมถึงการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน
 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 109.7 จุด ทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง หนุนโดยแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวน ทั้งนี้ แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง แต่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้น ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,706 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับตัวลงของราคาทองคำอาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยรวมยังคงมีความตึงตัวและแข็งแกร่งอยู่ แม้ว่ายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนสิงหาคม อาจเพิ่มขึ้น 3 แสนราย ลดลงจากที่เพิ่มขึ้นกว่า 5.3 แสนรายในเดือนก่อน ทำให้อัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.5% แต่โดยรวมจำนวนตำแหน่งงานเปิดรับยังคงสูงถึง 1.8 เท่า ของจำนวนผู้ว่างงาน ซึ่งภาวะตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัวดังกล่าว จะเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน


 
 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com