ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองธุรกิจร้านอาหาร จะกลับมาฟื้นตัวมูลค่ายอดขายรวมประมาณ 1.43 แสนล้านบาท ขยายตัว 26.5% ในปี 2565 จากการผ่อนคลายมาตรการ
ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 ธุรกิจร้านอาหารจะกลัยมาให้บริการเต็มรูปแบบ หรือ Full-Service Restaurants จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ได้แก่ การยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และการอนุญาตให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถกลับมาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการนั่งทานในร้านได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 แบบมีเงื่อนไข ซึ่งน่าจะทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มมีความถี่ในการออกไปทานอาหารและใช้เวลาในร้านอาหารมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือของปี 2564 น่าจะมีการขยายตัวของจำนวนต่อครั้ง (โต๊ะ) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปี ประกอบกับระยะเวลาในการใช้บริการต่อครั้งที่นานขึ้น ทำให้อาจจะมีการสั่งอาหารรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาทจากคาดการณ์เดิม และมีมูลค่าทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 1.13 แสนล้านบาท หดตัวร้อยละ 28.5 จากปี 2563
ขณะที่แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบ ในปี 2565 เริ่มมีปัจจัยหนุนเฉพาะสำหรับธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายมาตรการของทางการ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และหากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศดีขึ้น หรือไม่มีการกลับมาระบาดจนทำให้ทางการต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง น่าจะช่วยให้ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากการหดตัวอย่างรุนแรงต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
กรณีที่ 1 ภายใต้สมมติฐานที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดมีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่อเนื่องและการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ตามแผนของภาครัฐ ผู้บริโภคในประเทศมีความเชื่อมั่นในการเข้าใช้บริการ มีการเปิดประเทศนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ตลาดธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะมีมูลค่ายอดขายรวมในกรณีพื้นฐานอยู่ที่ประมาณ 1.43 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัว 26.5%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
กรณีที่ 2 ภายใต้สมมติฐานที่มีการแพร่ระบาดครั้งใหม่เกิดขึ้นและมีการยกระดับของมาตรการควบคุม ไม่ให้จำหน่ายอาหารภายในร้าน แต่ไม่ได้มีการ Lock down จะเหลือมูลค่าประมาณ 1.29 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 14.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
อย่างไรก็ดี โอกาสการกลับมาฟื้นตัว และมูลค่ายอดขายของธุรกิจดังกล่าวยังคงขึ้น อยู่กับปัจจัยรอบด้านต่างๆ ที่สำคัญ เช่น กำลังซื้อ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เป็นต้น รวมถึงปัจจัยเฉพาะที่มีผล ต่อรูปแบบการฟื้นตัวของร้านอาหารในกลุ่มนี้ที่แตกต่างกัน
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ทิศทางธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ จะกลับมาดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ โจทย์ทางธุรกิจที่สำคัญ เช่น แนวโน้มต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น อาทิ ราคาวัตถุดิบอาหารปรับตัวสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายสาธารณูโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าพื้นที่ ค่าแรง เป็นต้น กอปรกับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรักษาความสะอาดและตรวจคัดกรองโรค
ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว คาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อกำไรสุทธิ รายได้ สภาพคล่อง และสถานะทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง และมีภาระทางการเงินด้านสินเชื่อ ที่คาดว่าจะเป็นภาระผูกพันกับผู้ประกอบการร้านอาหารต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
.
ติดตามข่าวสาร ความรู้ทางการเงิน-การลงทุนได้ที่
.
Facebook : Clubhoon
Website : www.Clubhoon.com
Twitter : www.twitter.com/Clubhoon1