Economies

สูตร (ไม่) ลับ บริหารเงินฉบับมนุษย์ฟรีแลนซ์  ปลดล็อกเงินขาดมือ รอดทุกวิกฤต ชีวิตมั่นคงมั่นคั่ง
14 พ.ย 2564

ช่วงวิกฤตโควิดเกือบ 2 ปี คนจำนวนมากเดินเข้าสู่ถนนสาย "ฟรีแลนซ์" บางคนมีความสุขสนุกกับเส้นทางงานที่เลือก แต่บางคนจำใจต้องเข้ามาเพราะตกงานจากโควิด ต้องเจอกับปัญหาเงินขาดมือ มีความเครียดเมื่อชีวิตทางการเงินอ่อนแอ  แต่จะปลดล็อกปัญหาเงินขาดมืออย่างไร เรื่องนี้มีทางออกใครๆก็ทำได้

 

แน่นอนว่า รายได้ของมนุษย์ฟรีแลนซ์ จะขึ้นอยู่กับจำนวนงานที่รับจ้าง ทำให้มีรายได้แบบไม่แน่นอนทุกเดือนเหมือนมนุษย์เงินเดือน จึงมีโอกาสเกิดปัญหาเงินขาดมือมากกว่า  ยิ่งคนตกงานที่เคยมีรายได้ประจำและมีภาระหนี้ผ่อนรายเดือน ชีวิตทางการเงินจะสะดุดล้มแบบไม่ทันตั้งตัวก็มีเช่นกัน  แม้บางคนที่มีเงินเก็บเงินก้อนอยู่ ดึงออกมาใช้นานวัน เงินย่อมหร่อยหรอลงหรือเงินเก็บหมดไป เพราะช่วงทำงานประจำอาจไม่ได้วางแผนทางการเงินไว้ หรืออาจมีทำแต่ไม่เพียงพอรองรับช่วงเจอวิกฤตที่กินเวลายาวนานข้ามปีได้

 

สุขภาพทางการเงินอ่อนแอ เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยมาเนิ่นนาน  แต่ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป คนเราล้มแล้วลุก ถ้าคิดใหม่ทำใหม่ถูกทิศถูกทางย่อมมีวันที่ดีแน่ อย่าท้อ! โดยเฉพาะ"มนุษย์ฟรีแลนซ์" ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแล้ว เปิดประเทศในมาตรการอยู่ร่วมกับโควิด

 

ถึงวันนี้ เชื่อว่าสายฟรีแลนซ์น่าจะมีงานเข้าที่เข้าทางได้บ้างแล้ว บทเรียนโควิดทำให้ชีวิคการเงินสะดุด  เพราะฉะนั้นก็ถึงเวลากลับมาตั้งหลักปักหมุดวางแผนบริหารจัดการเรื่องเงินกันอย่างจริงจังดีกว่า 

 

มาดูเทคนิคการบริหารเงินฉบับ "มนุษย์ฟรีแลนซ์" กัน จริงๆเทคนิคบริหารเงินมีหลากหลายรูปแบบ เรามีหนึ่งในรูปแบบที่น่าสนใจและทำได้ง่ายๆไม่มีข้อจำกัดมาก ของ  SET invest now มาบอกเล่า

 

เป็นอีกแนวทางที่สามารถสร้างความฐานะทางการเงินให้สายฟรีแลนซ์มีความมั่นคงมั่งคั่ง ด้วยการบริหารเงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยสองมือของเราเอง  นั่นคือ “การแบ่งเงินเก็บ 3 กอง” 

 

กองแรกสำคัญสุด  "เงินสำรองฉุกเฉิน” เป็นก้อนที่เตรียมไว้รับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น วิธีการ คือ แบ่งเงินบางส่วนจากรายรับในแต่ละครั้ง  จะแบ่งเท่าไหร่มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเราดูว่าแต่ละเดือนมีภาระค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เมื่อหักรายจ่ายแล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่เกินครึ่ง ก็จัดเก็บไว้ส่วนหนึ่งสำหรับสะสมไว้ใช้ยามที่ไม่มีรายได้เข้ามาหรืองานน้อยในวันข้างหน้า  เดือนไหนรายได้น้อย เงินกองนี้จะสามารถดึงมาใช้สำหรับจ่ายภาระที่มี พวกอาหารการกิน ผ่อนบ้านเช่าบ้าน ค่างวดรถ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ หรือผ่อนสินค้าต่างๆ 

 

ซึ่งปกติ จะมีการแนะนำให้ทยอยเก็บให้ได้ 3-6 เท่า ของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เป็นต้น

 

แล้วแต่ละเดือน ควรจะมีเงินสำรองเก็บไว้เท่าไหร่ดี?  เราเริ่มคำนวณตัวเลข “ค่าใช้จ่ายประจำ" ภาระหนี้สินต่อเดือน และคำนวณเงินที่ต้องจ่ายประจำแต่ละเดือนไปอย่างน้อยเป็นเวลา 3-6 เดือนข้างหน้าเลย ได้ตัวเลขเท่าไหร่ก็เริ่มต้นทยอยสะสมไปทุกเดือนบางเดือนไม่ได้ตามเป้าก็ไม่เป็นไร สามารถทยอยทบเพิ่มในครั้งต่อๆไป แต่ใครที่อยากมีความมั่นคงมากและมีรายได้เยอะพอก็สามารถตั้งเป้าสะสมเงินสำรองก้อนนี้ไปเรื่อยๆเป็นปีๆ หรือมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบุคคล

 

ยกตัวอย่าง มีภาระค่าผ่อนบ้าน 15,000 บาท, ค่าผ่อนรถยนต์ 8,000 บาท, ค่าน้ำมันรถ 2,000 บาท และค่าโทรศัพท์ 700 บาท รวมค่าใช้จ่ายคงที่เดือนละ 25,700 บาท เราก็จะต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินประมาณ 77,100 - 154,200 บาท สำหรับช่วงระยะเวลา 3-6 เดือนข้างหน้า เราจะมีเงินสำรองนี้ช่วยรองรับปัญหาเงินขาดมือได้แน่ๆ

 

กองที่สอง “เงินสำรองด้านสุขภาพ” มีความจำเป็นมาก ยิ่งใครเจอบทเรียนวิกฤตโควิดด้วยแล้ว จะเห็นความสำคัญ  ไม่ว่าเราจะมีอายุมากหรือน้อย ปัญหาด้านสุขภาพที่ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้และมักเกิดความไม่แน่นอนสูงตลอดช่วงชีวิตด้วย เพราะฉะนั้นการแบ่งเงินซื้อประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงต่าง ๆ บางคนอาจให้ความสำคัญกับค่ารักษาเจ็บป่วยต่างๆ สามารถเริ่มต้นเลือกซื้อ “ประกันสุขภาพ” ได้ เพราะมีให้เลือกเยอะมาก โดยเฉพาะความคุ้มครองเกี่ยวกับโรคที่มีลักษณะรุนแรงต้องรักษาเร่งด่วน ผ่าตัดด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ความคุ้มครองของประกันจะพอช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงได้บ้าง  

 

นอกจากนี้ยังมีประกันคุ้มครองชีวิตที่จะดูแลระยะยาว ประกันบำนาญที่ไว้รองรับยามเกษียณจนถึงอายุแก่เฒ่า ค0-99 ปี ประกันอุบัติเหตุ ปัจจุบันบริษัทประกันออกแบบความคุ้มครองมีให้เลือกหลากหลายประเภทและให้ความคุ้มครองทั้งแบบผู้ป่วยนอก คือ ไปหาหมอทั่วไป หรือผู้ป่วยใน ที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วย โดยไม่ต้องสำรองจ่าย 

 

การจะเลือกประกันแบบไหนที่ใช่ที่เหมาะกับเรานั้น ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนว่า อยากได้ความคุ้มครองประเภทไหนและให้ความคุ้มค่าแก่เราที่สุดในช่วงเวลานั้นๆ  หากจะเลือกซื้อประกัน เราต้องศึกษาดูรายละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อทั้งพูดคุยสอบถามกับตัวแทนประกันที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็นนักวางแผนทางการเงินแล้ว หรือหาข้อมูลบนกูเกล จะเจอคำแนะนำดีๆแน่นอน 

 

กองสุดท้าย กองที่สาม "ให้เงินช่วยทำงาน” นั่นคือ  “การลงทุน” สินทรัพย์ต่างๆที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก  แต่นั่นหมายถึงเราต้องมีเงินเก็บจำนวนมากพอจึงมาจัดสรรพอร์ตลงทุนได้ โดยอย่างแรกต้องจัดสรรเงินเก็บแต่ละเดือนไปฝากแบงก์ก่อน แม้จะดอกเบี้ยต่ำ 0-1%ก็ตาม เงินสดในแบงก์ควรมีจำนวนมากพอรองรับช่วงชีวิตขาดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 6 -12 เดือน เงินก้อนนี้จะเรียกว่า “เงินเสริมสภาพคล่อง” เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับเราต้องการให้มีเงินสภาพคล่องตุนไว้เป็นระยะเวลาเท่าไหร่  และจึงค่อนนำเงินเก็บส่วนที่เหลือจากฝากเงิน ไปลงทุนในกองทุนรวมแบบที่มีสภาพคล่องสามารถซื้อขายออกได้ การลงทุนกองทุนรวมเหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เพราะมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บริหารเงินให้อย่างมืออาชีพ และปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)  ก็มีหลากหลายประเภทกองทุนให้เลือกลงทุนเช่นกัน เช่น ตราสารทางการเงินพวกพันธบัตร หุ้นกู้ จะมีผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก

 

เมื่อมีความรู้เรื่องลงทุนมากขึ้น จึงค่อยๆขยับหาการลงทุนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นที่มาคู่กับความเสี่ยงสูงด้วย เช่น ตราสารทุน พวกหุ้น ฯลฯ ทองคำ และมีให้เลือกลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่สำคัญ มีเงินน้อยหลักร้อยบาทก็สามารถลงทุนได้ ค่อยๆสะสมเงินลงทุนไป แต่อย่าลืมติดตามผลการลงทุนด้วยว่า กำไรหรือขาดทุน และต้องใช้บริการคำปรึกษากับบลจ.ให้คุ้มด้วย  เงินเก็บกองที่สามนี้เป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวม ช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

 

 เงินเก็บทั้ง 3 กองนี้ หากเรามีวินัยต่อการวางแผนทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยสร้างชีวิตให้มีความมั่นคง ปลดล็อกปัญหาเงินขาดมือ เมื่อชีวิตเจอกี่วิกฤตก็ฝ่ามรสุมรอดได้อย่างมั่นใจ  และยิ่งบริหารเงินลงทุนดีๆ ยิ่งจะเปิดโอกาสให้สร้างความมั่นคั่งเพิ่มพูนได้  หากตั้งใจและใส่ใจหาความรู้ความเข้าใจทางการลงทุนมากขึ้น จะสามารถขยับพอร์ตเงินเก็บไปลงทุนสินทรัพย์อื่นโดยตรงหรือไปใช้บริการของผู้ให้บริการการลงทุนก็สามารถทำได้มากขึ้น   เงินลงทุนงอกเงยเป็นก้อนใหญ่ 

 

มนุษย์ฟรีแลนซ์ ก็จะเป็นอิสระทางการเงินได้เร็วขึ้น และยังสามารถทำงานที่รักไปอย่างอยู่ตัว และมีความสุขกับสุขภาพตัวเองและสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงไม่แพ้มนุษย์เงินเดือน 


 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com