Economies

เผ่าภูมิ’ เข็นกม.ปั้นไทยเป็น “ศูนย์กลางการเงิน”ในอาเซียน อัด 8 ธุรกิจดูดต่างชาติลงทุน ชูให้ภาษีดีกว่าคู่แข่ง ชงครม.ต้น ก.พ. 
22 ม.ค. 2568

‘“เผ่าภูมิ” คลอด “พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน” ดึงธุรกิจ 8 ประเภท ตั้งศูนย์ OSA ครบวงจร ออกใบอนุญาต กำกับ สิทธิประโยชน์ จ้างงาน กรรมสิทธิ ลั่นดันไทยศูนย์กลางการเงินอาเซียน

 

ดร.เผ่าภูมิ  โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) เพื่อพัฒนาไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกระทรวงการคลังได้ยกร่างกฎหมายชุดใหม่ 96 มาตรา ที่มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ออกแบบสิทธิประโยชน์ รวมทั้งพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน ทั้งการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ 

 

รัฐบาลแต่งตั้ง คกก.กำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน โดยมีตนเป็นประธาน ปัจจุบันได้ยกร่าง “พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ....” และเปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อย่างช้า ต้นเดือน ก.พ. 68

 

โดยร่าง พ.ร.บ. มีหลักการสำคัญ ดังนี้

1) ธุรกิจเป้าหมาย

Financial Hub ต้องการดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3) ธุรกิจหลักทรัพย์ 4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6) ธุรกิจประกันภัย 7) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และ 8) ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่ คกก. ประกาศกำหนด ให้เข้ามาลงทุนและตั้งบริษัทในไทย โดยตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนดและต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เท่านั้น ทั้งนี้จะอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณี ดังนี้

 

(1) ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้

(2) ด้านตลาดทุน สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้

(3) ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำ Interbank กับสถาบันการเงินไทยเพื่อบริหารความเสี่ยงได้ 

(4) ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้

(5) ด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเป็น Non-resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท

 

2) สิทธิประโยชน์ 

ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายภายใต้ Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีตามที่ คกก. กำหนด โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น 

 

3) การอนุญาตและกำกับดูแล

จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA ) ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาลงทุน และมีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (คกก. OSA) ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กำหนดแนวทางการส่งเสริม กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาต การเพิกถอน และการกำกับดูแล โดยต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เป็นมาตรฐานสากล

 

ทั้งนี้ ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินไทยที่พัฒนามากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค การพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคจะดึงดูดธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้แรงงานที่มีทักษะด้านการเงินจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น เกิดการพัฒนาธุรกิจทางการเงินในไทย เกิดการจ้างงานในประเทศ เกิดการถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยีแก่แรงงานไทย รัฐบาลจึงมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะผลักดันให้ Financial Hub เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อย่างช้า ต้นเดือน ก.พ. 68

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com