Economies

เงินบาทแข็งค่า ใกล้แตะ 35 บาท/ดอลล่าร์
17 พ.ย 2566

เงินบาทแข็งค่าเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.23 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.35 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้น รายงานยอดค้าปลีกของอังกฤษ และเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.23 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.47 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดโซนแนวรับหลัก 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 35.13-35.52 บาทต่อดอลลาร์) ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แย่กว่าคาดที่ตลาดคาด สะท้อนภาพการชะลอตัวลงมากขึ้นของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกยักษใหญ่ Walmart ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็ยิ่งสะท้อนภาพการใช้จ่ายในสหรัฐฯ ที่ชะลอลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -100bps นอกจากนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มเผชิญความผันผวนสูงขึ้น กดดันโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ Walmart ที่ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอตัวของการใช้จ่ายในสหรัฐฯ ที่มากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบที่ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานออกมาแย่กว่าคาด ได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ส่วนใหญ่ ยังปรับตัวขึ้นได้ ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.12%   

 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.72% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ Dior -2.5%, LVMH -1.8% หลังบางบริษัท อาทิ Burberry -9.8% ได้มีการปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการ จากแนวโน้มการใช้จ่ายสินค้าแบรนด์เนมที่อาจลดลงกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงหนักของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน Shell -3.0%, BP -2.8% ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด พร้อมกับ ผลประกอบการของบริษัทค้าปลีก Walmart ที่แย่กว่าคาดเช่นกัน ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.44% อีกครั้ง ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงผันผวน ใกล้โซน 4.50% จนกว่าตลาดจะปรับมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น และลึกขึ้นกว่าคาด ถึงจะเห็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องที่ชัดเจนได้ ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อได้ตามคำแนะนำเดิม 

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ในช่วงตลาดเริ่มผันผวนและปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 104.4 จุด (กรอบ 104-104.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ภาพตลาดการเงินโดยรวมที่เริ่มเข้าสู่ภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมถึงการปรับตัวลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้น จากโซนแนวรับ แถว 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้

 

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจอยู่ที่ฝั่งยุโรป โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดค้าปลีกของอังกฤษ รวมถึงรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว สะท้อนภาพเศรษฐกิจอังกฤษและยูโรโซนที่ชะลอลงมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า ทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทว่า ภาพดังกล่าว ก็อาจกดดันสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินปอนด์ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ให้อ่อนค่าลงได้บ้าง

 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึง รอลุ้นคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 โดย Atlanta Fed (GDPNow) ซึ่งทาง Atlanta Fed ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจโตได้ถึง +2.2% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่า คาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์ ที่มองแค่เกือบ +1%  

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น มากกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร โดยเราได้ประเมินก่อนหน้าว่า หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจชะลอการแข็งค่าแถวแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ เรามองว่า ในวันนี้ เงินบาทอาจชะลอการแข็งค่าลงบ้าง ตามโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ผู้นำเข้า ที่รอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่วนผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Long THB ( มองเงินบาทแข็งค่า) ก็อาจเริ่มขายทำกำไรสถานะดังกล่าวออกมาบ้าง นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ก็มีโอกาสที่จะสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจฝั่งยุโรปมากขึ้น จนกดดันสกุลเงินฝั่งยุโรปได้บ้าง ทำให้ เงินบาทอาจยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ยกเว้น การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งอาจต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า 

 

นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ก็อาจมีความผันผวนมากขึ้น ตามบรรยากาศในตลาดการเงินโลกที่เริ่มเข้าสู่ภาวะระมัดระวังตัว ทำให้ นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของหุ้นไทยได้เพิ่มเติม ซึ่งเราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าหลุดโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้โดยง่ายภายในสัปดาห์นี้ 

 

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.35 บาท/ดอลลาร์ 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com