Economies

SCGC จับมือ 2 สนง. นวัตกรรมแห่งชาติ ไทย - อิสราเอล  ผลักดันการรีไซเคิลพลาสติกพีวีซี  เตรียมนำร่องในไทย
2 มิ.ย. 2567

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC  ร่วมกับ 2 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล (Israel Innovation Authority) หรือ IIA ร่วมผลักดันผลงานด้านนวัตกรรม “โครงการรีไซเคิลพลาสติกพีวีซีด้วยกระบวนการซูเปอร์ออกไซด์ (Superoxide Process) เพื่อผลิตน้ำมันแนฟทาสำหรับอุตสาหกรรมเคมี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี ช่วยแก้ปัญหาการจัดการพลาสติกพีวีซีใช้แล้วซึ่งยากต่อการกำจัด พร้อมส่งเสริมงานวิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่งานวิจัยเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม  โดยความร่วมมือระหว่าง SCGC และ บริษัท พลาสติกแบ๊ค(Plastic Back) ประเทศอิสราเอล  ทั้งนี้ SCGC มีแผนนำร่องทดลองใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามแนวทาง Low Waste, Low Carbon ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากฟอสซิล และเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green polymer) ในอนาคต 

 

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC กล่าวว่า "เทคโนโลยีรีไซเคิลของPlastic Back สามารถนำพลาสติกชนิดพีวีซีใช้แล้ว กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอัตราการรีไซเคิลได้เกือบ 100% ทำให้พลาสติกพีวีซีใช้แล้วที่กำจัดด้วยกระบวนการทั่วไปได้ยาก สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีนี้ยังสามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งแบบยูนิตเดี่ยวสำหรับติดตั้งโรงงานขนาดเล็ก จนถึงการรีไซเคิลปริมาณมากในระดับอุตสาหกรรม โดย SCGC มีแผนนำร่องทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ในประเทศไทย เพื่อวิจัยหาสภาวะที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตน้ำมันแนฟทาสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี โดยความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามแนวทางของ SCGC ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมรักษ์โลก ตามแนวทาง Low Waste, Low Carbon เพื่อมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยปัจจุบัน SCGC ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง (Virgin Plastic) จาก Circular Naphtha ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิลทางเคมีขั้นสูง (Advanced Recycling) โดยได้รับมาตรฐาน ISCC PLUS (International Sustainability and Carbon Certification) ทั้งนี้ เทคโนโลยีการรีไซเคิลพลาสติกพีวีซีดังกล่าว จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน”

 

นายตัล โคเหน ประธานบริษัทพลาสติกแบ๊ค กล่าวว่า “การรีไซเคิลพลาสติกพีวีซีถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่ ความร่วมมือกับSCGC ครั้งนี้ช่วยให้เราสามารถปิดวงจรการอัปไซเคิลของขยะพีวีซีที่ยากต่อการจัดการได้ และเรายังคงมุ่งหวังจะสร้างความร่วมมือกับSCGC ต่อไปในอนาคต สุดท้ายนี้ การสนับสนุนจาก NIA และ IIA เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถรวบรวมนวัตกรรม ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และทรัพยากรอื่น ๆ มาสร้างให้เกิดความร่วมมือได้”

 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIAกล่าวว่า “NIA มุ่งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างมูลค่าและส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเร่งสร้างโอกาสการเติบโตให้กับผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรม จึงได้ดำเนิน "โครงการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม" ขึ้น โดยร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล หรือ IIA พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมในสาขาธุรกิจที่มีความสนใจร่วมกันระหว่างสองประเทศ โดย “โครงการรีไซเคิลพลาสติกพีวีซีด้วยกระบวนการซูเปอร์ออกไซด์เพื่อผลิตน้ำมันแนฟทาสำหรับอุตสาหกรรมเคมี” ระหว่างSCGC และ Plastic Back ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จที่มีการนำนวัตกรรมจากอิสราเอลมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยนับตั้งแต่มีการลงนามความร่วมมือ (MoU) ด้านนวัตกรรมในปี 2561 ซึ่งนอกจากจะสามารถนำน้ำมันแนฟทาจากกระบวนการรีไซเคิลทางเคมีมาใช้เป็นสารตั้งต้นในโรงงานอุตสาหกรรมหรือจำหน่ายทดแทนแนฟทาจากฟอสซิลที่ปัจจุบันมีราคาขายประมาณ 550 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการใช้สารตั้งต้นในกลุ่มฟอสซิลให้แก่โรงงานปิโตรเคมี และเพิ่มอัตราส่วนของผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ (Green polymer) ได้อีกด้วย”

 

นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า “อิสราเอลเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นมา ทั้งการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ท้าทาย อิสราเอลจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยกระดับศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการ และความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี รวมถึงพัฒนางานวิจัยที่ก้าวหน้าและมีคุณภาพ พร้อมทั้งสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งและเป็นเอกลักษณ์ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ สถาบันการศึกษา บริษัทข้ามชาติ กองกำลังป้องกันอิสราเอล และการระดมทุนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิสราเอลได้เปลี่ยนจากการเป็น "ประเทศแห่งสตาร์ตอัป" ไปสู่การเป็น "ประเทศแห่งยูนิคอร์น" โดยมีบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบ 100 แห่ง และในวันนี้เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความสำเร็จของความร่วมมือแรกที่เกิดขึ้นจากการลงนามความร่วมมือ (MoU) ระหว่าง NIA และ IIA โดยเป็นโครงการนำร่องจาก SCGC และPlastic Back ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วด้วยเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งพัฒนาโดย Plastic Backโครงการนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และเราเชื่อมั่นว่าจะมีโครงการที่ประสบความสำเร็จอีกมากมายตามมาในอนาคต การรวมตัวกันระหว่างสตาร์ตอัปของอิสราเอลและบริษัทใหญ่ในประเทศไทยครั้งนี้ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศได้อย่างแน่นอน”

 

นายอาวี่ ลุฟตัน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แผนกความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล หรือ IIA กล่าวว่า “นวัตกรรมเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของอิสราเอล IIA จึงเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเครื่องมือและแพลตฟอร์มการระดมทุนที่หลากหลาย เพื่อรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของระบบนิเวศนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น บริษัทที่พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตใหม่ ๆ กลุ่มนักวิชาการที่ต้องการถ่ายทอดแนวคิดสู่ตลาด บริษัทข้ามชาติที่สนใจร่วมมือกับเทคโนโลยีของอิสราเอล บริษัทอิสราเอลที่ต้องการหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ และโรงงานแบบดั้งเดิมที่ต้องการผสานนวัตกรรมและการผลิตขั้นสูงเข้าสู่ธุรกิจของตน ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นหนึ่งในงานที่IIA ให้ความสำคัญ โดย IIA จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระดับนานาชาติ จับคู่พันธมิตรในต่างประเทศให้กับอิสราเอล เพื่อช่วยค้นหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลหรือธุรกิจ ความร่วมมือระหว่างอิสราเอล-ไทยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นโครงการนวัตกรรมการรีไซเคิลพีวีซีของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จที่น่าจับตามอง”

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com