กบข. พร้อมปรับพอร์ตลงทุน หลังผลประชุม Fed ออกมาในกลางสัปดาห์ ชี้เงินเฟ้อสหรัฐสูงกดดันจบ QE taper เร็วขึ้น และขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า เผยเน้นลงทุนสินทรัพย์สู้เงินเฟ้อสูง หุ้นที่ได้ผลบวกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์
ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศอยู่ในระดับสูงและสูงกว่าประมาณการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเหตุจากอุปสงค์ส่วนเกินในสหรัฐฯ และกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน(QE tapering) และเปลี่ยนเป็นใช้มาตรการตึงตัว (tightening) เร็วขึ้น ซึ่งในวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) กบข. ได้มีการติดตามการประชุมอย่างใกล้ชิด และมองว่า Fed จะปรับท่าทีเป็นเข้มงวด (hawkish) มากขึ้น สอดคล้องกับท่าทีของนาย Jerome Powell ประธาน Fed ในการแถลงการณ์สภาวะเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้คาดว่า Fed มีแนวโน้มที่จะดำเนินการ taper เร็วขึ้นเป็นมากกว่า 15 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน ทำให้ QE สิ้นสุดลงระหว่างไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ตามด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีเดียวกัน นอกจากนี้ ธนาคารกลางของประเทศอื่นที่สำคัญ เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย ต่างมีท่าทีหยุดการผ่อนคลายหรือปรับเป็นเข้มงวดเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อระดับสูงด้วยเช่นกัน
โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไป (headline CPI)ของสหรัฐฯ แตะระดับ 6.2% สูงกว่าที่ Bloomberg Consensus ได้คาดการณ์ที่ 5.9% โดยปรับสูงขึ้นตามลำดับและมากกว่าประมาณการโดยทั่วไปนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ประกอบกับในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้ประเมินว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงเกือบ 3 ครั้งภายในปีหน้า
“อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงจะมีความยืดเยื้ออีกนานแค่ไหนอย่างไร เราน่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป หรือเข้าสู่ปีหน้า 1) การพิจารณารวมถึงการปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์ส่วนเกินและอุปทานส่วนขาดในภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจ ซึ่งอุปสงค์ส่วนเกินที่เป็นตัวเร่ง Fed มากกว่าอุปทานส่วนขาดนั้น ยังคงส่งสัญญาณต่อไปในหลายตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น ยอดค้าปลีก ยอดคำสั่งซื้อสินค้าไม่คงทน เป็นต้น 2) ความไม่แน่นอนจากการกลายพันธุ์ของ Covid โดยเฉพาะสายพันธุ์ Omicron ที่อาจมีผลให้ supply disruptions ยาวนานยิ่งขึ้น” ดร.ศรีกัญญากล่าว
ในด้านการลงทุน กบข. มองว่า ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการถือครองสินทรัพย์และการปรับการจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อได้ ได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ทองแดง เป็นต้น ซึ่งเหมาะสมต่อภาวะที่อัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตของจีนอยู่ในระดับสูง หุ้นกลุ่มที่ได้รับผลบวกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนด้านตราสารหนี้ เน้นกลยุทธ์ที่รองรับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและกลาง