เงินบาท“อ่อนค่าลงเล็กน้อย”เปิดเช้านี้ที่ 35.02 บาท/ดอลลาร์ จับตาไฮไลท์สำคัญตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินกรอบเงินบาทวันนี้ 34.80-35.30 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.02 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.97 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 34.95-35.12 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ หลังราคาทองคำได้ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก หลังเงินดอลลาร์ก็เริ่มชะลอการแข็งค่า เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันพฤหัสฯ นี้ ขณะเดียวกัน บรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอจังหวะเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงในการทยอยขายเงินดอลลาร์
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ เป็นหลัก โดยเฉพาะหุ้น Meta +3.7% ที่ได้แรงหนุนจากการปรับเพิ่มเป้าราคาของนักวิเคราะห์ นอกจากนี้ หุ้นกลุ่ม Semiconductor ต่างก็ปรับตัวขึ้น อาทิ Nvidia +2.3% จากอานิสงส์รายงานผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตชิพรายใหญ่ TSMC ที่ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.57%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงย่อตัวลงต่อเนื่อง -0.18% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบก็มีส่วนกดดันให้ ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวลดลง นำโดย Shell -1.4%, BP -0.6% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังคงได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่ม Healthcare อาทิ Novo Nordisk +2.1%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideway ใกล้ระดับ 4.00% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในคืนวันพฤหัสฯ นี้ โดยเรายังคงแนะนำว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาด จนทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด เช่น หากผู้เล่นในตลาดเลิกเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.20% ได้อีกครั้ง ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.3-102.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานดังกล่าว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้บ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ควรจับตาว่า หลังการรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวอย่างไร โดย หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ ทดสอบโซนแนวต้าน 2,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็จะสามารถช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นหรือชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ไม่ได้ชะลอตัวลง ตามที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวัง หรือกลับเร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกัน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานก็ยังคงอยู่ใกล้เคียงกับระดับเดิม เรามองว่า ในกรณีนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจปรับลดความคาดหวังการ “ลดดอกเบี้ย” ของเฟด และมีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดจะ “เลิกเชื่อ” ว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคม ซึ่งอาจทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การผันผวนอ่อนค่า “เร็วและแรง” ของเงินบาทในช่วงการซื้อ ขาย ระหว่างวันก่อนหน้า อาจไม่ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ในวันนี้ โดยเฉพาะในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เนื่องจาก แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าดังกล่าว นั้นมาจากความกังวลแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งบรรดาผู้เล่นในตลาดก็ได้คลายกังวลประเด็นดังกล่าวไปพอสมควร หลังทาง ธปท. เตรียมจะจัดงานแถลง BOT Policy Briefing ในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม โดยเราคาดว่า ธปท. จะใช้งานแถลงดังกล่าว ย้ำจุดยืนว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันของไทยนั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสม ตามแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจเคลื่อนไหวผันผวนสูงได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงเวลาประมาณ 20.30 น. ตลาดเวลาในประเทศไทย โดยเราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก หากอัตราเงินเฟ้อกลับไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือ เร่งตัวขึ้น กดดันให้บรรดาผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคม ขณะที่ หากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวลงตามคาด หรือ อาจชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งเงินบาทก็มีโอกาสกลับมาแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ และการจะแข็งค่ามากกว่าระดับดังกล่าว อาจขึ้นกับแนวโน้มราคาทองคำ หลังรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนนี้เช่นกัน
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.10 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
และประเมินกรอบ 34.80-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ