คลัง ลั่นยังไม่แผนเก็บภาษีทั้งขายหุ้นและกำไรจากหุ้น ชี้ยังต้องการสร้างตลาดหุ้นไทยให้ดึงดูดนักลงทุน และแข่งขันได้ มั่นใจมาตรการแจกเงินดิจิทัล จะสร้างรายได้คืนกลับมาจากภาษีนิติบุคคล-VAT พร้อมยืนยันตัวเลขประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิในการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จัดแถลงข่าวตัวเลขประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิในการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หลังจาก น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ว่าประมาณการรายได้ปี 67 ที่เพิ่ม 30,000 ล้านบาท มาจากการที่รัฐบาลจะเก็บภาษีขายหุ้น 14,000 ล้านบาท
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาชี้แจงว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายพิจารณาภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมจากการขายหุ้นหรือ Financial Transaction Tax และยังไม่มีนโยบายที่จะพิจารณาภาษีกำไรที่เกิดจากการขายหุ้น หรือ Capital Gain Tax ซึ่งจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนและจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความสบายใจ มีเสถียรภาพ และสามารถวางแผนการลงทุนในระยะยาว
เขากล่าวยอมรับว่า นโยบายด้านภาษี เป็นหนึ่งในมาตรการที่มีผลโดยตรงต่อตลาดหุ้นไทย แต่รัฐบาลยังอยากเห็นตลาดทุนไทยเป็นอิฐก้อนแรกของระบบเศรษฐกิจไทยในการสร้างภาคเอกชน สร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนให้สามารถเติบโตไปได้ และอยากเห็นตลาดหุ้นไทยที่มีสภาพคล่องสูงมีเสถียรภาพ เป็นตลาดหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ ไม่ใช่ตลาดหุ้นที่ซบเซา รวมทั้งต้องการเห็นตลาดหุ้นไทยดึงดูดนักลงทุนที่จะมาลงทุนและดึงดูดบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียน ซึ่งตลาดหุ้นที่น่าดึงดูดจะต้องมีความสามารถในการแข่งขันมีกฎระเบียบที่ผ่อนปรนเอื้อต่อการลงทุน สามารถดึงดูดบริษัทต่าง ๆ ในระดับโลกด้วย คลังต้องการเห็นตลาดหลักทรัพย์ไทยแข่งขันได้และมีความเป็นสากล
นายเผ่าภูมื กล่าวถึงกรณีไม่มีการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ จะทำให้รายได้ของรัฐบาลหายไปหรือไม่ ว่า แผนการคลังในระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ยังไม่ได้มีการพิจารณา รวมถึงผลกระทบที่มีนัยยะสำคัญของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งหากมาตรการนี้เกิดขึ้น หมายถึงจะมีเม็ดเงินถึง 5.6 แสนล้านบาทเข้าไปในระบบ และด้วยกลไกที่รัฐบาลออกแบบ เงินทุกบาทใน 5.6 แสนล้านบาท จะต้องเกิดเป็นรายได้ของรัฐบาลกลับคืนมาในรูปแบบของภาษี ทั้งภาษีนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มขึ้นถึง 1 แสนล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าเรื่องมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 ต.ค. 66 จะมีการเสนอรายชื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต และหลังจากนั้นจะเร่งเดินหน้าทำงาน จะเห็นความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับเงื่อนไขในมาตรการและจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ เพราะยิ่งปล่อยเงินให้หมุนมากเท่าไหร่ก็จะมีตัวคูณทางเศรษฐกิจสูงขึ้น
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวออกตามสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อสงสัยตัวเลขสำคัญบางประการของวงเงินปีงบประมาณ 2567 ในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 - 2570) ฉบับทบทวน (MTFF 2567 - 2570) นั้น ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ยืนยันตัวเลขประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณรายจ่าย และขาดดุลการคลังของปีงบประมาณ 2567 ภายใต้ MTFF 2567 - 2570 ฉบับทบทวน เท่ากับ2,787,000 ล้านบาท 3,480,000 ล้านบาท และ 693,000 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566
2. สำนักงบประมาณนำตัวเลขงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ตามMTFF 2567 - 2570 ฉบับทบทวน มาดำเนินการตามขั้นตอนของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 กันยายน2566 และกระทรวงการคลังได้วางแผนการบริหารจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพื่อให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามที่ประมาณการไว้โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้เป็นหลัก
เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานจัดเก็บรายได้ในสังกัดกระทรวงการคลังได้มีการพัฒนาระบบต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บรายได้อย่างต่อเนื่อง มีการใช้เทคโนโลยีในการติดตามและตรวจสอบการจัดเก็บภาษีเพื่อขยายฐานภาษี ทำให้การวางแผนการจัดเก็บเป้ารายได้ของปีงบประมาณ 2567 จะสามารถเป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้ อีกทั้งมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมให้เศรษฐกิจมีการเติบโตซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มากขึ้นด้วย โดยยังไม่มีการนำนโยบายภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องในทางปฏิบัติ