CIMBT เตือนเศรษฐกิจไทยปี 66 ผันผวนมากขึ้นจากสารพัดความเสี่ยงที่รุนแรงกว่าปีนี้ คาด GDP ไทย ปีหน้าโต 3.4% แรงส่งจากภาคท่องเที่ยวโตดีต่อเนื่อง มองเศรษฐกิจฟื้นตัวกระจุก ภาคเอสเอ็มอีและเกษตรยังอ่อนแอ เผยคาดส่งออกติดลบ 1% จากคาดปีนี้ขยายตัว 7.1% จากแรงกระแทกเศรษฐกิจโลกถดถอยนำโดยสหรัฐ-ยุโรป ส่วนจีนยืดเยื้อกับคุมเข้มโควิดฉุดเศรษฐกิจ ชี้ "เลือกตั้งไทย" ปลุกเศรษฐกิจรากหญ้าคึกคัก แต่กระตุกด้านการลงทุนโดยเฉพาะเงินทุนต่างชาติชะลอตัว รอดูนโยบายรัฐบาลใหม่ ย้ำดอกเบี้ยไทยคาดขึ้นเต็มที่ 2% ส่วนสหรัฐไม่ต่ำกว่า 5% กดดันส่วนต่างดอกเบี้ยสูง กระทบบาทอ่อนค่าก่อนพลิกแข็งค่าปลายปีจากขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ในปี 2565 นี้ ตลาดเงินตลาดทุนและภาพรวมเศรษฐกิจผ่านสิ่งเลวร้ายและความผันผวนมามาก แต่ปี 2566 ยังน่าห่วงกว่านี้ โดยมีสารพัดความเสี่ยงจากปีนี้ที่คาดจะเกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า และยังมีประเด็นใหม่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย คือ การเลือกตั้ง ที่ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งโอกาสคือ ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคหมุนเวียนมีความคึกคักมากขึ้น แต่ก็มีความท้าทาย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอการลงทุนโดยตรง (FDI) เพื่อรอดูทิศทางนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลกว่าจะสำเร็จ คาดจะใช้เวลานาน แต่เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะอยู่กับความผันผวนทั้งต่างประเทศและในประเทศได้ สำนักวิจัยฯจึงคงคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ปี 66 ที่ 3.4%
ในส่วนของปีนี้ สำนักวิจัยยังคงคาดการณ์ GDP ที่ 3.2% แม้เศรษฐกิจขยายตัวดีเกินคาดในช่วงไตรมาส 3/65 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนถึง 4.5% (yoy)หรือขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า 1.2% (qoq) แต่การฟื้นตัวหลักมาจากการเปิดเมืองและการเปิดรับการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่มากขึ้น กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์ยังกระจุกตัวในกลุ่ม โรงแรม ร้านอาหาร และ การขนส่ง ขณะที่การใช้จ่ายในกลุ่มอื่นๆ ยังขยายตัวไม่โดดเด่น อาจด้วยรายได้คนทั่วไปไม่ได้ปรับขึ้นมาก แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสูงจนคนระมัดระวังการใช้จ่าย นอกจากการบริโภคภาคเอกชนแล้ว การลงทุนภาคเอกชนก็เป็นตัวสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งการสั่งซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบ รวมทั้งภาคการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาพการฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่า มาจากอุปสงค์ที่อัดอั้นมานาน และ พร้อมกระโจนใช้จ่าย หรือ pent-up demand ซึ่งมองต่อไปก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงได้
"เราคาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 นี้จะขยายตัวได้ 3.7%yoy หรือ 0.6%qoq โดยการส่งออกน่าจะเริ่มชะลอลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยคาดว่าปีนี้ส่งออก 7.1% และปีหน้าส่งออกจะติดลบ 1% ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลง โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐและยุโรปที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการส่งออกของจีนมีแนวโน้มติดลบในปีหน้า ทั้งจากอุปสงค์ตลาดโลกที่อ่อนแอลง ปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน และจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งโดยรวมจะกระทบการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่กลุ่มอาหารแปรรูปและสินค้าเกษตรน่าจะยังพอประคองตัวได้จากการที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน"
ดร.อมรเทพ มองการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ว่า ยังมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และน่าจะยังหวังการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาอาเซียนรวมทั้งไทยได้ในปีหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ และอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่การก่อสร้างคอนโดมิเนียมในราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทที่คนไทยพอเข้าถึงได้น่าเป็นโอกาสในการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้า โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย
อย่างไรก็ตามในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว อาจเห็นบทบาทการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐลดลง ปีหน้าการใช้จ่ายภาครัฐอาจไม่ขยายตัวจากปีนี้ และน่าจะไม่สามารถคาดหวังโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้มากนัก ด้วยงบประมาณที่จำกัดและนำมาใช้ด้านสวัสดิการคนจนเป็นสำคัญ อีกทั้งหากรัฐบาลใช้เงินมากระตุ้นการใช้จ่ายมากเกินไป ก็อาจทำให้อุปสงค์เร่งแรงกว่าการขยายตัวของอุปทาน ความไม่สมดุลนี้จะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง หรือการขาดความเชื่อมั่นในภาคการคลังในประเทศ ซึ่งรัฐน่าจะประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเน้นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงในปีหน้า
"ปีหน้าก็ยังเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวโดดเด่นกว่า เนื่องจากมีภาคท่องเที่ยวหนุนการขยายตัว โดยคาดว่าปีหน้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 20 ล้านคน โดยช่วงครึ่งปีแรกเป็นนักธุรกิจต่างประเทศก่อน และครึ่งปีหลังน่าจะเห็นนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยภายใต้คาดการณ์จีนมีการเปิดประเทศไตรมาส 3 เป็นต้นไป ส่วนกำลังซื้อในประเทศโดยรวมปีหน้าไม่ได้โตโดดเด่น มองว่าจะขยายตัวในเมืองท่องเที่ยวหลักๆไม่กี่แห่ง ส่วนภาคเกษตรและเอสเอ็มอียังอ่อนแออยู่"
ดร.อมรเทพ กล่าวถึงความเสี่ยงสารพัดในปี 2566 ว่า เป็นความเสี่ยงต่อเนื่องจากต่างประเทศที่อาจรุนแรงขึ้น ได้แก่ ปัญหาการรุกรานของรัสเซียในยูเครนที่ยืดเยื้อ จนกระทบห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารสัตว์ ปุ๋ย รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้เงินเฟ้อจะปรับลดลง แต่ก็ยังสูงกว่า 2% แม้เฟดจะลดความร้อนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย แต่อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้าไปถึงระดับไม่ต่ำกว่า 5%แต่ไม่เกิน 6% เพื่อคุมเงินเฟ้อให้ลดลงในกรอบให้ได้ จึงอาจกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยแรงกว่าคาด
ส่วนในจีนยังมีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ต่อเนื่องตามมาตรการ Zero-Covid แต่รอบนี้มีการประท้วงในหลายเมือง หากสถานการณ์ยืดเยื้อก็น่าจะกระทบอุปสงค์ในประเทศจีน โดยฉพาะต้องติดตามว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะมีปัญหา จนฟองสบู่แตก ราคาที่ดินร่วงหรือไม่ เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ที่สูงในภาคส่วนนี้ รวมทั้งทำให้ห่วงโซ่การผลิตชะงักงัน และอาจจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตในประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบตามมาด้วยเนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบจากจีน
นอกจากนี้ อาจความเสี่ยงอื่นๆ ตามมา ได้แก่ วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูง เช่น อิตาลี หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นจนนักลงทุนกังวลปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เช่นในอดีต แม้ทางธนาคารกลางยุโรปจะมีมาตรการรับมือ แต่หากยูโรโซนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูง การช่วยเหลืออาจทำได้จำกัด และน่ากระทบความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโร ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและกลับไปถือสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง
และวิกฤติตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากปีนี้ที่หลายประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะเมื่อเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงเร็วจากรายจ่ายด้านน้ำมันและเงินโอนออกนอกประเทศ ขณะที่รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวหดหาย ปัญหานี้อาจขยายวงได้อีกครั้ง เสมือนใครจะเป็นโดมิโนรายต่อไปที่จะล้ม หากนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นและดึงเงินลงทุนกลับ ค่าเงินจะอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว และประเทศเหล่านี้อาจเผชิญปัญหาสภาพคล่อง ต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ แต่ปัญหานี้ไม่น่ารุนแรงจนลามไปประเทศที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงและไม่มีปัญหาด้านความเชื่อมั่น ส่วนสถานการณ์โควิดกลายพันธุ์ แพร่ได้เร็ว หลบภูมิคุ้มกัน แม้อาการไม่รุนแรง แต่จะส่งผลให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขมีปัญหา รัฐบาลอาจต้องจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออาจกระทบความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านท่องเที่ยว รวมทั้งอาจกระทบภาคการผลิต ซึ่งจะมีผลให้ห่วงโซ่อุปทานมีปัญหากระทบการส่งออกได้
ดร.อมรเทพ มองทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ว่า จะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เปราะบาง และความเสี่ยงเรื่องหนี้ครัวเรือน ขณะที่ดอกเบี้ยเฟดกำลังอยู่ช่วงปลายทางของการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และน่าจะขึ้นระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 1-2 ในปีหน้า ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) น่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ช่วงกลางปี ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2% จากระดับ 1.25% ในปลายปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงที่จะอยู่เหนือกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อระดับบนที่ 3% ซึ่งทางธปท. ยังไม่น่าส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังปีหน้าได้ และเชื่อว่า ธปท. ยังคงดูแลกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อยไม่ให้ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ว่ายังเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตไม่กี่กลุ่ม ขณะที่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและภาคเกษตรยังต้องระมัดระวัง และแนะให้ตุนเงินสดไว้ด้วย
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อใช้จ่ายลดลงตาม ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐตามคาดน่าจะเป็นบรรยากาศในการลงทุนที่ดีขึ้น แม้เฟดจะยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้า โดยมองเงินบาทไว้ที่ระดับ 36.00 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปลายปีนี้
"เรายังกังวลในส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐที่ยังสูงในช่วงครึ่งแรกปีหน้า ประกอบกับการส่งออกที่ยังมีทิศทางไม่สดใส และรายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่ ซึ่งน่าจะยังทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงกลางปีหน้า และ จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ในช่วงเวลาดังกล่าวก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปีตามการฟื้นตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว และ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย โดยมองเงินบาทที่ระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์ในปลายปี 2566" ดร.อมรเทพกล่าวปิดท้าย