Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.50-35.20 บาท/ดอลลาร์ จับตา สัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านดัชนี PPI และตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ ตัวชี้นโยบายการเงินเฟด และติดตามสถานการณ์โควิดในจีน
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 2 ธันวาคม)
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดยังคงได้แรงหนุนจากความหวังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ในจีน รวมถึงแนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตา สัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด และควรติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪️ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่าน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดคาดว่า ความต้องการสินค้าที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง ปัญหา Supply Chain ที่คลี่คลายลงไปมาก จะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าฝั่งผู้ผลิต โดย PPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 7.2% จาก 8.0% ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่า แรงกดดันต่อเงินเฟ้อทั่วไปในส่วนราคาสินค้า (Goods Inflation) ก็มีแนวโน้มชะลอลง อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อในฝั่งการบริการ (Services Inflation) อาจยังคงอยู่ในระดับสูง หลังจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.5 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก และดัชนีราคาภาคการบริการก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 70 จุด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาวจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ซึ่งเรามองว่า ต้องระวังในกรณีที่ ดัชนี PPI ไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือเงินเฟ้อคาดการณ์กลับเร่งตัวขึ้น ก็อาจทำให้ตลาดพลิกกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและกลับสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้
▪️ ฝั่งยุโรป – ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า เจ้าหน้าที่ ECB จะยังคงส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ในอัตราชะลอลง (+50bps จาก +75bps) หลังอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนชะลอลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Deposit Facility Rate ของ ECB อาจปรับขึ้นใกล้ระดับ 3.00% ได้ในปีหน้า จากระดับล่าสุด 1.50%
▪️ ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า ภาคการค้าระหว่างประเทศของจีนจะซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัดจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนพฤศจิกายน อาจหดตัวมากขึ้นถึง -4.3%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็อาจหดตัวกว่า -7.1%y/y สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่สะท้อนภาวะหดตัวในอัตราเร่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังคงซบเซาจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ โดยตลาดมองว่า เงินเฟ้อทั่วไปของจีนจะชะลอลงสู่ระดับ 1.6% ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) สามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจได้ หากปราศจากแรงกดดันเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 3.10% ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า RBA อาจจบรอบขาขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 3.10% หรือ ปรับขึ้นอีกเล็กน้อยสู่ระดับ 3.25% ในการประชุมครั้งถัดไป หลังภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อออสเตรเลียนั้นชะลอลงมากขึ้น ส่วนธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ก็อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอัตราชะลอลง +25bps (จาก +50bps ในครั้งก่อนๆ) ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นสู่ระดับ 6.15% หลังเงินเฟ้อเริ่มชะลอลงมากขึ้น อีกทั้งสกุลเงินรูปีอินเดีย (INR) ก็เริ่มแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ลดแรงกดดันต่อ RBI ในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อช่วยประคองค่าเงิน
▪️ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับอานิสงส์จากการบริโภคในประเทศจะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ยังคงอยู่ในระดับ 3.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) จะทรงตัวที่ระดับ 6.0% (คิดเป็นการเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า +0.3%) ทั้งนี้ เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจากระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่สูงในปีนี้ ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานก็เริ่มคลี่คลายลง ทำให้แม้เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็ไม่ได้น่ากังวลมากนัก ทำให้เราคงมองว่า ธปท. จะทยอยเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 25bps จนแตะระดับ 2.00% ได้ในปีหน้า นอกจากนี้ ภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยจะสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนพฤศจิกายน ที่อาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 47 จุด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนฝั่งอ่อนค่าตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และควรระวังแรงขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินฝั่งเอเชียในระยะสั้น ในกรณีที่ตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ หากราคาทองคำย่อตัวลง ก็อาจมีโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะในกรณีที่ดัชนี PPI รวมถึงคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงมาก นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุน หากตลาดกังวลสถานการณ์ COVID-19 ในจีน อาทิ ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น จนทางการจีนไม่สามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดไปได้มาก
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.50-35.20 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.10 บาท/ดอลลาร์