ธปท. เผยเศรษฐกิจเดือน เม.ย.. ฟื้นตัวต่อเนื่อง โมเมนตัมภาคท่องเที่ยว หนุนภาคบริโภค ส่วนส่งออกยังหดตัว ชี้ช่วงที่เหลือปีนี้ คาดหวังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ห่วงภาคส่งออก เฝ้าติดตาม ศก.โลกยังผันผวนสูง ปัญหาธุรกิจเจอต้นทุนสูง กระทบผู้บริโภค และความไม่แน่นอนจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่วนการขึ้นค่าแรง ขอรอดูความชัดเจนออกมาก่อน
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากกิจกรรมในภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และสนับสนุนให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน
ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางที่เร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจจากผลของฐานสูงในปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากผลของฐานสูงในหมวดอาหารสด และหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.นี้ นายสักกะภพ กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่าจะยังฟื้นตัว แต่อาจมีกิจกรรมบางอย่างที่ชะลอตัวลงบ้าง เช่น การท่องเที่ยวที่เข้าสู่ Low Season ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐที่หมดลง
ส่วนช่วงที่เหลือปีนี้ เศรษฐกิจจะเติบโตได่ตามคาดการณ์ไว้หรือไม่ นายสักกะภพ กล่าวว่า จากข้อมูลสภาพัฒน์ ไตรมาสแรก GDP เติบโต 2.7%และเดือนเมษายน ก็ยังขยายตัว ในช่วงที่เหลือก็มีทิศทางที่ดีอยู่ แต่ก็ยังต้องติดตามความเสี่ยง เรื่องเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง ปัญหาการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล
"ในอนาคต เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ มีทั้ง upside และdownside ความเสี่ยงหลักๆ คือภาคการส่งออกไทยที่จะได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลก อีกปัจจัยที่จะมากระทบ คือ นโยบายของรัฐบาลใหม่ ส่วนเรื่องนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบเงินเฟ้อหรือไม่ จะต้องดูลักษณะการปรับขึ้น และรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร แต่เรื่องนี้จะถูกนำไปรวมไว้เป็นความเสี่ยงที่จะมีในอนาคต"นายสักกะภพ กล่าว
ส่วนทิศทางค่าเงินบาท ว่า ในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าราว 0.6% และเดือน พ.ค. ช่วงครึ่งเดือนแรกเฉลี่ยแข็งค่า 0.38% มาจากตลาดปรับลดคาดการณ์เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวค่อนข้างดี แต่พอในช่วงครึ่งเดือนหลัง เงินบาทกลับมาอ่อนค่า จากการที่เฟดยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยด้วย
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย เดือนเมษายน มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ กลุ่มยุโรปไม่รวมรัสเซีย ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ชะลอลงบ้างหลังเร่งไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายในภาคบริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามหมวดโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของ ภาคท่องเที่ยว สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนทรงตัวตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่การใช้จ่าย หมวดสินค้าคงทนปรับลดลงจากทั้งยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายรถยนต์ หลังเร่งซื้อไปมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังปรับดีขึ้นจากทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งออก (1) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯหลังหมดรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ (2) น้ำตาลไปอินโดนีเซีย และ (3) เครื่องปรับอากาศไปสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้นอาทิ การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนไปจีน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการผลิตในหมวด (1) ยานยนต์ จากการรอระบายสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง หลังเร่งผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า (2) อาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป น้ำมันปาล์ม และอาหารทะเลกระป๋องเป็นสำคัญ และ (3) หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น จากอุปสงค์สำหรับใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบย่อย ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุตสาหกรรม
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนโดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือจากจีน ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมหมวดเชื้อเพลิงลดลงจากเดือนก่อน อาทิ การนำเข้าเหล็กรีดแผ่นและพลาสติกจากจีนและญี่ปุ่น
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน จากรายจ่ายในโครงการโทรคมนาคมและระบบรถไฟชานเมือง หากไม่รวมผลของฐาน รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากโครงการลงทุนด้านโทรคมนาคมและสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของกรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากผลของฐานสูงในหมวดอาหารสดและหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน อีกทั้งราคาในหมวดอาหารสดลดลง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร จากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น และกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าเนื่องจากตลาดปรับลด
การคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
0000