Economies

อย่าลงทุนเพลิน ระวังความผันผวนสูง คืนนี้ผลประชุม Fed ปัจจัยเสี่ยงรอยู่ข้างหน้า
15 ธ.ค. 2564

เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง  คืนนี้จะรู้ผลประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ  (FED) ทิ้งทวนปี 2564 กันแล้ว ซึ่งถ้อยแถลงใน Dot Plot จะชี้ชะตาทิศทางการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นค่าเงิน หุ้น คลิปโทฯ ทองคำ และตราสารหนี้ และหลังผลประชุมนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอะไรรอเกิดขึ้นอีกในระยะข้างหน้า มาดูมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์กัน

 

แม้ที่ผ่านมา ตลาดลงทุนได้รับรู้กระแสข่าวนี้กันมาก่อนหน้า ว่า มีแนวโน้มเฟดอาจประกาศเพิ่มการลดวงเงิน QE จากเดือนละ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 30,000  ล้านเหรีญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้จบเร็วขึ้นในกลางปีนี้และหลังจากนั้นเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ  หรือ  BBL กล่าวว่า จากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่สูงสุดในรอบ 40 ปี เมื่อเดือนพ.ย. ที่ระดับ 6.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  เป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) พิจารณาทำ  QE tapering มากขึ้น และขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น  ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ตลาดคริปโตฯ รวมทั้งทองคำ ปรับ“ลดลงทันที” ในระยะสั้น และเงินบางส่วนจะไหลกลับไปลงทุนใน Dollar Index  

 

หากอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไป จะอันตรายที่จะทำให้เกิดฟองสบู่ทางเศรษฐกิจและการลงทุนได้ ดังนั้นสหรัฐจะต้องดึงลงเฟ้อลงมาให้ได้ และจะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย (fundflow) ทั่วโลก 

 

ในส่วนของไทย น่าจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น แต่เชื่อว่าฐานะการเงินรัฐบาลและเอกชนมีความแข็งแกร่งและจะกลับมาได้ในเวลารวดเร็ว แต่ตลาดเกิดใหม่หลายประเทศที่ค่าเงินอ่อนแออยู่แล้ว เช่น ตุรกี เวเนซูเอล่า หรือ South Africa ประจะได้รับผลกระทบหนัก

 

“นักลงทุนควรระวังในช่วงนี้ และติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด หากมีกำไรจากการลงทุนแล้ว ควรขายทำกำไรบ้าง จนกว่าสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐปรับลงมา ซึ่งปีหน้าในทุกตลาดจะมีความผันผวนสูง” นายกอบศักดิ์ กล่าว

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลประชุมคืนนี้ มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2565  โดยจุดสนใจในการประชุมเฟดครั้งนี้ Fed Dot Plot หากเฟดมีการส่งสัญญาณทิศทางที่แข็งกร้าว (Hawkish) กว่าที่ตลาดคาด อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจมีทิศทางอ่อนค่าลงได้ในระยะข้างหน้า  

 

อย่างไรก็ตาม เฟดยังมีโจทย์ในระยะข้างหน้าที่ต้องชั่งน้ำหนัก  หากเฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ควร นอกจากจะสร้าง “ความผันผวนมากขึ้น” ในตลาดเงินตลาดทุนแล้ว ยังอาจยิ่งบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ได้หมดไป

 

 

ทั้งนี้  แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคงพุ่งขึ้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า จากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานและปัญหาขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ ที่ไม่น่าจะคลี่คลายลงในระยะเวลาอันใกล้  และตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง หลังจากยอดขอสวัสดิการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 52 ปี โดยสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ 1.84 แสนราย แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าอย่างมากของการฟื้นตัวในตลาดแรงงานสหรัฐฯ

 

จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ คาดว่าเฟดคงเผชิญแรงกดดันให้ถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินเป็นแบบตึงตัวเร็วกว่าขึ้นกว่าเดิม โดยคาดว่าเฟดจะปรับประมาณการเงินเฟ้อสูงขึ้นให้สอดคล้องกับภาวะที่เกิดขึ้น ประกอบกับมีความเป็นไปได้ที่ Fed Dot Plot จะบ่งชี้ การ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าการแถลงประมาณการครั้งก่อนในเดือนก.ย. 2564 โดยอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้งในปีหน้า

 

บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า คืนนี้ตี 2 เวลาในไทย  ติดตามผลการประชุม FOMC  เชื่อว่าโทนที่ออกมาจากคำพูดของนาย Jerome Powell จะอยู่ในโหมด Dovish โดยเฉพาะกับการส่งสัญญาณให้ความมั่นใจกับตลาดว่า การเพิ่มอัตราเร่ง QE Tapering นี้จะไม่ได้เป็นสัญญาณชี้นำใดๆต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ถึงแม้ว่าค่ากลางของ Dot plots ที่ออกมาในรอบนี้จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากครั้งก่อนก็ตาม (โดยเฉพาะของปี 2565 ) แต่ก็เป็นสิ่งที่ Fed Funds futures ในตลาดมองเอาไว้อยู่แล้วเช่นเดียวกัน จึงมองไม่มีผลกระทบสำคัญต่อตลาดทุนแต่อย่างใด  จึงมองว่า  SET ในวันพรุ่งนี้  มีแนวรับ  1,611  แนวต้าน 1,635

 

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้ มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นเป็นอันดับต้นๆของเอเชีย สอดคล้องกับทิศทางของกระแส Fund flow ในตลาดหุ้น ซึ่งในช่วง 2 วันที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิไปแล้วกว่า 5 พันล้านบาท

 

บล.เอเซียพลัส ระบุว่า สัญญาณเรื่องเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น  ถือเป็นตัวเร่งการลดระดับนโยบายการเงินผ่อนคลาย (QE Tapering) หากผลประชุมออกมาไม่กำหนดเร่งลด QE ลงมาอยู่ที่ 0 ก่อนเดือนมี.ค. 2565  เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้น และในอีกหนึ่งสถานการณ์ Omicron ที่ปัจจุบันที่มีประเทศที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 77 ประเทศ  ทำให้ต้องจับตาดูใกล้ชิดขึ้น ในอีกมุมหนึ่งก็น่าจะมีส่วนให้ต้องคิดทบทวนเรื่องการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นในระยะต่อไป ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวทำให้เงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ชะลอตัวตัวในการเข้ามาสู่สินทรัพย์เสี่ยง

 

ส่วนปัจจัยในประเทศ  โดยภาพรวมของสถานการณ์ Covid-19 ยังดูดี เห็นการผ่อนปรนมาตรการต่อเนื่อง ขณะที่ช้อปดีมีคืน ยังมีโอกาสได้เห็นในระยะต่อไป  จึงประเมินว่า SET Index เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,614 – 1,630 จุด  โครงสร้างพอร์ตจำลองให้น้ำหนักเน้นไปที่ หุ้นค้าปลีก + เปิดเมือง Top Pick เลือก ADVANC, CPN และ DOHOME

 

แม้ว่า ผลประชุมเฟดคืนนี้ออกมา แต่ในระยะข้างหน้า ยังมีอีกหลายปัจจัยรอกดดันการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดอยู่ และยังมีอีกหลายธนาคารกลางที่จะมีการประชุมตามกันมา ล้วนเป็นความเสี่ยงที่มีผลต่อการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆที่ต้องระมัดระวังกันอยู่ต่อไป ปีหน้าจึงเป็นอีกปีที่การลงทุนหาผลตอบแทนมีความยากต่อไปอีก

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com