Economies

ดร.กอบศักดิ์ ชี้ 4 โจทย์สำคัญฝากถึงทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ พยุงไทยก้าวข้ามวิกฤตพร้อมวิ่งรอบใหม่
3 ก.ค. 2566

ดร.กอบศักดิ์ ชี้เป้า 4 โจทย์ใหญ่ต้อนรับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ จับตาเงินเฟ้อยังไม่ลด กดดันต้องขึ้นดอกเบี้ยเพิ่ม ซ้ำเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวแรงกว่าคาด เล็งครึ่งปีหลังขึ้นดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง แนะระยะสั้นประคองตัวรอดข้ามวิกฤตให้ได้ก่อน พร้อมเตรียมตัวเรื่องพัฒนาเทคโนโลยี ดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ วางตัวเป็นกลางในสงครามการค้า หวั่นรัฐบาลผสม อาจกระทบเอกภาพการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ

 

ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยใน เวทีสัมมนา “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” โอกาสครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่นั้น มีโจทย์สำคัญที่ต้องการการตัดสินใจหลายเรื่อง โดยเรื่องที่ 1 คือภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ลดลงตามเป้าหมายที่น่าพอใจหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวหรืออาจมีการถดถอย ก็อาจจะกระทบแรงกว่าที่คาดไว้ จึงอาจเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกประมาณ 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง เช่นเดียวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยได้อีกเช่นกัน ขณะที่เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของภาคการผลิตและส่งออก แต่ยังมีข้อดีที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวจึงมาช่วยชดเชยเอาไว้ได้ส่วนหนึ่ง ฉะนั้นถ้าประเทศไทยปลดล็อคเรื่องการท่องเที่ยวได้ดี จะมีแรงส่งให้ก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ 

 

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อาจเห็นการปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยจะปรับมาอยู่ที่ 2.25-2.50% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปัจจุบันยังเผชิญกับปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบและภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 โจทย์สำคัญจึงยังต้องทำให้ประชาชนมีรายได้เพื่อมาแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างต่อเนื่อง และหวังว่าการปลดล็อคเรื่องท่องเที่ยวจะเข้ามาช่วยประเด็นนี้ได้ดีขึ้นเช่นกัน

 

“ความท้าทายของโจทย์ในข้อนี้อาจจะไม่ใช่ว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เท่าไหร่ แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรที่ทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ผ่านก้อนวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้ และสามารถวิ่งได้อีกครั้งเมื่อทุกอย่างจบลง ถือว่าเป็นชัยชนะที่ดีน่าพอใจในระดับหนึ่ง”


ความท้าทายเรื่องที่ 2 คือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พลิกโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ปัจจุบันยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างรวดเร็วมากเรียกว่าก้าวกระโดดยิ่งกว่าทวีคูณ ดังนั้น ประเทศไทยต้องก้าวให้ทันกับเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่นี้


เรื่องต่อมา คือสถานการณ์เงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไปที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ มาที่ประเทศไทยบ้างแต่เป็นส่วนน้อย โจทย์นี้จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรเพื่อสร้างเสน่ห์ให้ประเทศไทยน่าดึงดูดให้เข้ามาลงทุน ประเด็นนี้อาจจะไม่เห็นผลลัพธ์ในทันที แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าเมื่อสร้างโรงงาน สร้างนิคมอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่การผลิตต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน หากประเทศไทยไม่สามารถดึงดูดเงินลงทุนเหล่านี้ได้ เราจะตกขบวนในอนาคต และขีดความสามารถการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนจะเปลี่ยนไป


สุดท้ายคือเรื่องความขัดแย้งในสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการให้แต่ละประเทศเลือกข้าง ซึ่งในมุมมองของตนนั้นเห็นว่า การเลือกข้างใดข้างหนึ่งอาจไม่ใช่คำตอบ แต่การเลือกเป็นกลางน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ทั้งเชื่อว่าในอนาคตประเทศที่เลือกเป็นกลางน่าจะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ แต่จะมีคุณมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องกำหนดบทบาทและการวางตัวให้ชัดเจน ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดกลยุทธ์ของประเทศไทยในระยะยาว 20 ปีข้างหน้าด้วย


“จากโจทย์ทั้งหมดนี้ ความยากคือตอนนี้เรายังไม่เห็นหน้าตาที่ชัดเจนของรัฐบาล และด้วยโครงสร้างของการเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งจะต้องมีการจัดสรรเกี่ยวกับการดูแลกระทรวงต่าง ๆ ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจจึงอาจไม่มีเอกภาพมากเพียงพอ และเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างไรต่อไป” ดร. กอบศักดิ์ กล่าว


 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com