กอบศักดิ์ ชี้ถึงจุดเปลี่ยนหมดยุคดอกเบี้ยต่ำคาดทยอยขึ้นหลังเงินเฟ้อชะลอร้อนแรง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สัปดาห์นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย จบยุคดอกเบี้ยต่ำของไทยที่เกิดขึ้นมาหลายปี สู่จุดเริ่มต้นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยกลับไปสู่ปกติ
ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นเท่าไร ไปจบลงที่ตรงจุดไหนในช่วงต่อไปนั้น คงต้องรอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจ โดยมีปัจจัยหลักที่จะเป็นหัวใจสำคัญกำหนดดอกเบี้ยต่อไปคือ แนวโน้มของเงินเฟ้อ ที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องแข่งกันปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา และสำหรับไทยจะเกิดขึ้นในช่วงต่อไปเช่นกัน
ในประเด็นนี้ ต้องถือว่า เป็นข่าวดีที่ไทยกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเงินเฟ้อกำลังแผ่วลงบ้าง โดยในเดือน ก.ค.65 เป็นครั้งแรกของปีที่เงินเฟ้อลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากเคยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างน่ากังวลใจจากเดือนก่อนหน้า (MoM) เฉลี่ยเดือนละ +0.9% มาตลอดเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) เงินเฟ้อไทยเดือนนี้ลดลงมาที่ 7.61% จาก 7.66% ในเดือนก่อนหน้าแม้จะลดลงเพียงเล็กน้อยแต่ก็ยังน่าดีใจ
อย่างไรก็ตาม การที่จะวิเคราะห์แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางนั้น ต้องเข้าใจว่าสำหรับธนาคารกลางประเทศต่างๆ แล้ว ที่สำคัญไปยิ่งกว่าเงินเฟ้อเดือนล่าสุด คือ แนวโน้ม (outlook) ในระยะต่อไปของเงินเฟ้อ เพราะฝันร้ายที่สุดของธนาคารกลาง คือ เอาเงินเฟ้อในระยะยาวไม่อยู่ ซึ่งในประเด็นนี้ จะเอาอยู่ หรือ ไม่อยู่ มีปัจจัยสำคัญ 4 เรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะจะกำหนดแนวโน้มของเงินเฟ้อในในช่วงต่อไป
1. ราคาน้ำมันโลก
2. ราคา Commodities โลก โดยเฉพาะหมวดโลหะ และอาหาร
3. ค่าเงิน เนื่องจากเรานำเข้าวัตถุดิบและสินค้า
4. ราคาค่าจ้าง โดยเฉพาะราคาค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือน
สำหรับ 4 ปัจจัยหลักนี้ เราเริ่มเห็นราคาน้ำมันโลก ราคาโลหะโลก ราคาอาหารบางชนิดเริ่มดีขึ้น (จากความกลัว Global Recessions) ทำให้เงินเฟ้อของไทยเริ่มนิ่งขึ้นเช่นกัน ค่าเงินบาทที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้างก็ช่วยเช่นกัน ซึ่งหากราคาน้ำมันและ Commodities โลกอยู่ในระดับนี้ต่อไป เงินเฟ้อไทยก็น่าจะเริ่มลดลงในช่วงปลายปี ก่อนจะถูกกระทบอีกครั้งจากการปรับขึ้นราคาค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็น่าจะบริหารจัดการได้
ทั้งหมดนี้ การที่เงินเฟ้อทั่วไปของไทยปรับตัวดีขึ้น ไม่พุ่งทะยาน ลดลงเล็กน้อย และมีแนวโน้มลดลงในช่วงต่อไป จะช่วยให้การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติสามารถทำแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ สามารถคอยดูสถานการณ์ ไม่ต้องเร่งร้อน ถูกกดดันเหมือนกับเฟด หรือธนาคารกลางประเทศอื่นๆ