เงินบาท “แข็งค่าขึ้น” เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.28 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.40 บาท/ดอลลาร์ จับตายอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ และควรระวังความผันผวนของเงินบาทช่วงบ่ายวันนี้ เนื่องจากธุรกรรมจะเบาบางลงไปมากช่วงก่อนหยุดยาวปีใหม่
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.28 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้ (แกว่งตัวในช่วง 34.26-34.45 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านระยะสั้นไปได้ หลังจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้าตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.14% ท่ามกลาง ความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้าตามคาด หลังจากที่รายงานข้อมูลดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการโดยเฟดสาขาริชมอนด์ ได้สะท้อนภาพการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน อดีตประธานเฟดสาขาดัลลัส ก็ยังได้ให้ความเห็นว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงได้ในไม่ช้า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็กลับมาปรับตัวขึ้น +0.21% จากบรรยากาศในตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยลงของบรรดาธนาคารกลางหลัก ก็มีส่วนหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ SAP +1.2%, Adyen +0.9%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.80% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยิ่งมั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยลงได้ราว 6 ครั้ง เริ่มตั้งแต่การประชุมเดือนมีนาคมปีหน้า ทว่า เราคงมุมมองเดิมว่า ควรระวังความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจพุ่งสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ได้เข้าสู่แนวโน้มขาลงแล้ว แต่ยังมีความผันผวนอยู่บ้าง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) กอปรกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังมั่นใจว่าเฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ได้ส่งผลให้โดยรวม เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงสู่ระดับ 101 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.9-101.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้สำเร็จ ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นใกล้โซน 2,090 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา (และเป็นการแข็งค่ามากกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร)
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ควรจับตา คือ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ โดยในช่วงนี้ที่บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดในปีหน้า ไปพอสมควร ทำให้ต้องระวังในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวออกมาดีกว่าคาดไปมาก จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าได้
นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงบ่ายของวันนี้ เนื่องจากปริมาณธุรกรรมจะเบาบางลงไปมาก ในช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราได้ประเมินว่า แต่ก็ยังเป็นการแข็งค่าที่ไม่ห่างจากเป้าสิ้นปีของเราที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปมากนัก ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจเริ่มชะลอลงบ้าง เนื่องจากบรรดาผู้นำเข้า รวมถึงผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) ในช่วงที่ผ่านมา อาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อเข้าซื้อเงินดอลลาร์ และทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB ก่อนเข้าช่วงวันหยุดยาวได้ ทำให้เงินบาทก็อาจแข็งค่าไม่เกินโซน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะ ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านเดิมในการทยอยขายทำกำไรได้ เช่นเดียวกันกับในฝั่งตลาดบอนด์ นักลงทุนต่างชาติก็มีโอกาสขายทั้งบอนด์ระยะสั้น ตามการทำกำไรสถานะ Long THB รวมถึงขายบอนด์ระยะยาว ในกรณีที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวลดลงบ้าง ตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับที่เราประเมินไว้ จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าต่อเนื่องถึงโซนแนวรับสำคัญถัดไปที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ภาพดังกล่าวอาจจะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ อาทิ ยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมปีหน้า
และที่สำคัญ เราขอเน้นย้ำอีกรอบว่า ควรระวังความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วงบ่ายวันนี้ จากปริมาณธุรกรรมที่เบาบางพอสมควร อีกทั้งควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ เช่นกัน
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.40 บาท/ดอลลาร์