ค่าเงินบาท “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” เปิดเช้านี้ที่ 36.96 บาท/ดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ คาดจะอยู่ที่ 36.85-37.10 บาท/ดอลลาร์ จับตาผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ ส่วนฝั่งเอเชีย ลุ้นผลประชุมธนาคารกลางมาเลเซีย
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.91-37.00 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ อาทิ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ช่วงเย็นวันพฤหัสฯ นี้ และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ขณะที่เงินดอลลาร์โดยรวมก็แกว่งตัว sideways หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็ไม่ได้การส่งสัญญาณใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่ยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปเรียบร้อยแล้ว (fully priced-in) ทั้งนี้ เงินบาทอาจผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมทองคำบ้าง หลังราคาทองคำมีทั้งจังหวะปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับและจังหวะรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะที่บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ บางส่วนก็ปรับตัวลดลงจากปัจจัยเฉพาะตัว เช่น Tesla -1.7% หลังมีรายงานข่าวว่า คณะอัยการของสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบทาง Tesla เกี่ยวกับพฤติกรรมชี้นำในส่วนของความสามารถระบบขับขี่รถอัตโนมัติ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.18% ส่วนดัชนี S&P500 ย่อตัวลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง -0.03 จุด (-0.00058%)
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.34% ยังคงหนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มที่บรรดาธนาคารกลาง โดยเฉพาะธนาคารกลางในฝั่งยุโรปยังมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.50% อีกครั้ง ท่ามกลางถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย หากยังไม่มั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ลงเล็กน้อย (ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 71% จาก CME FedWatch Tool) ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจยังอยู่ในกรอบ sideways แถวระดับ 4.50% ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะหากปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ได้อีกครั้ง (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00% ได้อีกครั้ง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะผลการประชุม BOE ในวันพฤหัสฯ นี้ และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถวระดับ 105.5 จุด อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 105.4-105.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากตลาดทองคำยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบ ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ก็เคลื่อนไหวไปตามการทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยราคาทองคำยังคงติดโซนแนวต้าน 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยเข้าซื้อในช่วงโซนแนวรับแถว 2,310-2,320 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ราคาทองคำยังพอพยุงตัวแถวโซนดังกล่าวได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราคาดว่า BOE อาจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ทว่าก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายพอสมควร อย่างไรก็ดี ควรจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคต ว่า BOE จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้เร็วที่สุด ในการประชุมเดือนมิถุนายน หรือ ไม่ เนื่องจากปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยได้ในช่วงไตรมาสที่ 3
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ผลการประชุมธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ซึ่งเราคาดว่า BNM จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น ทว่า ความกังวลต่อเสถียรภาพของเงินริงกิต (MYR) ก็อาจทำให้ BNM เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนได้ จนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ชัดเจน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) ของจีน ในเดือนเมษายน ซึ่งจะช่วยสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ก็ยังไม่มีปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นผลการประชุม BOE และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ก่อน ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังพอมีอยู่ ทั้ง โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน (ล่าสุดราคาทองคำก็แกว่งตัวใกล้โซนแนวรับ) ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทก็อาจยังพอมีแนวต้านระยะสั้น แถวโซน 37.00-37.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อีกทั้ง เราเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาว จากฝั่งนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น หลังจากบอนด์ยีลด์ไทยได้ปรับตัวขึ้นมาพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เราขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในช่วงเวลาราว 18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เพราะหาก BOE ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ย ได้เร็วกว่าที่ตลาดคาด (ตลาดมอง BOE จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 3) ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลง ซึ่งในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD ต่างชี้ว่า โมเมนตัมการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของเงินปอนด์อังกฤษ ได้แผ่วลง และเสี่ยงที่จะย่อตัวลงได้ไม่ยาก ซึ่งภาพดังกล่าวจะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.10 บาท/ดอลลาร์