นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จ ากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.67-36.82 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานคาดการณ์ครั้งที่ 2 ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกในปีนี้ ออกมา +1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ครั้งแรกที่ขยายตัว +1.6% นอกจากนี้ คาดการณ์ครั้งที่ 2 ของดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ก็ออกมา +3.0% ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งแรกเล็กน้อยที่ +3.1% ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดบ้าง ดังจะเห็นได้จากโอกาสในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งของเฟดในปีนี้จาก CME FedWatch Tool ขยับขึ้นเป็น 36% จากไม่ถึง 25% ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่เผชิญแรงกดดันจากการเทขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia -3.8%, Microsoft -3.4% หลัง Salesforce -19.9% รายงานผลประกอบการที่ออกมาแย่กว่าคาดทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.08% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.60%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.59% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง ขณะเดียวกันบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งยุโรปก็ย่อตัวลงบ้าง ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ลดลงและคาดการณ์ผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรปจะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมสัปดาห์หน้า ทว่า บรรดาหุ้นเทคฯ ยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง อาทิ SAP -4.1% หลัง Salesforce รายงานผลประกอบการที่แย่กว่าคาด
ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้ง GDP ไตรมาสแรก (คาดการณ์ครั้งที่ 2) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกที่ออกมาแย่กว่าคาดเล็กน้อย ได้ช่วยคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาดไปได้บ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัว ท่ามกลางมุมมองว่า เฟดยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 4.54% อีกครั้ง ทั้งนี้ เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ แต่ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็มีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นกลับมาอยู่ในโซน 156-157 เยนต่อดอลลาร์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายน เช่น ปรับลดปริมารณการเข้าซื้อบอนด์ญี่ปุ่น และอาจกลับมาส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ทั้งนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอช่วยหนุนเงินดอลลาร์อยู่ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 104.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.6-105 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เข้าใกล้ระดับ 2,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยรวมยังคงแกว่งตัวแถว 2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในข้อมูลด้านเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 โดยเฟดสาขา Atlanta (GDPNow) ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนในเดือนพฤษภาคม ซึ่งหากชะลอตัวลงต่อเนื่อง ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมิถุนายน
และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนพฤษภาคม
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทจะแผ่วลงบ้าง หลังเงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 37.00 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ แต่ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังมีอยู่ โดยในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจกับ รายงานดัชนี PMI ของจีน และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และเงินยูโร (EUR) ได้บ้าง โดยต้องระวังในกรณีที่ข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด (หรือชะลอลงกว่าคาดในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ) ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตามเงินหยวนและเงินยูโรได้ นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง ก่อนที่จะเลือกทิศทางที่ชัดเจนขึ้น หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ
โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ออกมาตามคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท แต่หากออกมาต่ำกว่าคาด สะท้อนถึงการชะลอลงของเงินเฟ้อที่มากขึ้น ก็อาจหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ราว -0.13% แต่ในทางกลับกัน หากออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราว +0.11% เป็นอย่างน้อย (%การอ่อนค่า หรือ แข็งค่านั้น มาจากค่าเฉลี่ยการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์หลังการรับรู้ข้อมูลดังกล่าวในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา)
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ
และประเมินกรอบ 36.50-36.95 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ