Economies

คาดเงินบาทวันนี้ 34.60-34.75 บาท/ดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอสูงกว่าคาดสู่ระดับ 8.3% 
12 พ.ค. 2565

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ระดับ 34.60-34.75 บาท/ดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงมากเท่าที่ตลาดคาดหวัง

 

คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.68 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.61 บาทต่อดอลลาร์ 


ตลาดการเงินยังคงผันผวนหนัก โดยผู้เล่นในตลาดต่างกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน จากความหวังว่า เงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ทว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนเมษายน กลับชะลอลงสู่ระดับ 8.3% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ เมื่อหักผลของราคาสินค้าที่ผันผวนสูง อาทิ อาหารและพลังงาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) แม้จะชะลอลงสู่ระดับ 6.2% แต่คิดเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งตัวขึ้นถึง +0.6% จากเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่ตลาดคาด หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าในหมวดที่พักอาศัย ราคารถยนต์ใหม่ รวมถึงสินค้าหมวดบริการ อาทิ ราคาตั๋วเครื่องบิน และสะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอลงได้เร็วและอาจกดดันให้เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อได้


ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดต่างกลับสู่โหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนไหวกับการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย อาทิ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ส่งผลให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -3.18% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.65% ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินจากความกังวลปัญหาเงินเฟ้อสูงที่อาจกดดันให้เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนอาจทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง (Stagflation) เราคงแนะนำการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare ซึ่งข้อมูลในอดีตสะท้อนว่า หุ้นกลุ่ม Healthcare นั้นสามารถให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ในช่วงภาวะดังกล่าว อีกทั้งระดับราคาปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่ถูกกว่าตลาดหุ้นโดยรวม


ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นแรงถึง +2.62% สวนทางกับภาพตลาดหุ้นสหรัฐฯ หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ L’Oreal +4.8%, Louis Vuitton +4.3% จากความหวังการผ่อนคลายมาตการ Lockdown ในจีน หลังยอดผู้ติดเชื้อในจีนชะลอลงอย่างต่อเนื่อง  


ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนหนักเช่นกัน โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้พุ่งขึ้นกลับไปแตะระดับ 3.07% หลังเงินเฟ้อชะลอลงน้อยกว่าคาด ทำให้ตลาดยังกังวลว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทว่าภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.91% จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน 


ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความผันผวนในตลาด ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) สามารถปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104 จุด ได้อีกครั้ง ซึ่ง เรามองว่า ในระยะสั้น เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด จนกว่าตลาดจะเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ว่าจะมีมุมมองต่อทิศทางนโยบายการเงินเฟดอย่างไร หลังอัตราเงินเฟ้อล่าสุดชะลอลงน้อยกว่าคาด ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ทว่าความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยและการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นจากระดับ 1,837 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กลับสู่ระดับ 1,852 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ในช่วงนี้ ราคาทองคำอาจเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องก็อาจหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อได้ 


สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษ โดยตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจอังกฤษอาจโตราว +1.0%q/q ในไตรมาสแรกของปีนี้ ชะลอลงจากช่วงปลายปีที่แล้ว จากผลกระทบของการระบาดโอมิครอนและผลกระทบจากสงครามที่กดดันการบริโภคภาคเอกชนและภาคการผลิต ผ่านปัญหาราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ การทยอยขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อก็อาจเป็นอีกปัจจัยกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะซบเซาหนักในปลายปีมากขึ้น 


และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงมากเท่าที่ตลาดคาดหวัง โดยตลาดจะรอจับตาว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะมีมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินเฟดอย่างไร โดยเฉพาะโอกาสในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อ


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่า และอาจอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินฝั่งเอเชีย จากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้ไหลออกรุนแรง ก็จะทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ซึ่งเรามองว่า การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงเทขายบอนด์ระยะยาวในฝั่งไทยได้บ้าง ในขณะที่ฝั่งหุ้น ต้องรอจับตาว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวมากขึ้นหรือไม่ 


ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.75 บาท/ดอลลาร์

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com