Krungthai GLOBALMARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.90 บาท/ดอลลาร์ จับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยไฮไลท์จะอยู่ที่ การแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ต่อสภาคองเกรส
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.74 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBALMARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง ทดสอบโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงใกล้แนวรับ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงเทขายทำกำไรหลังกลับมาเปิดทำการ โดยผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ซึ่งปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Conoco Phillips -2.8%, Chevron -2.3%, ) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางความกังวลอุปสงค์ความต้องการใช้พลังงานอาจลดลง หากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ชะลอตัว
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ยังคงปรับตัวลงราว -0.59% ท่ามกลาง ความกังวลว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ของทางการจีนอาจน้อยเกินไปและอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและกลุ่มเหมืองแร่ (Dior -1.4%, Anglo American -4.0%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ หุ้นกลุ่ม Healthcare (Sanofi +3.7%, Novo Nordisk +0.7%)
ทางฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ผู้เล่นต่างไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาทยอยซื้อบอนด์ระยะยาว ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นก่อนหน้า ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.73% ซึ่งเราคาดว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว อาจแกว่งตัวในกรอบ sideway เพื่อรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดและธนาคารกลางหลักอื่นๆ รวมถึงรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip)
ในส่วนตลาดค่าเงิน ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่เชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้ง หากภาพเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงต่อเนื่องและบรรยากาศในตลาดการเงินก็อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ทว่า ราคาทองคำกลับถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับ 1,940-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยไฮไลท์จะอยู่ที่ การแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ต่อสภาคองเกรส ซึ่งประธานเฟดอาจส่งสัญญาณเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปของเฟดได้
ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคม จะอยู่ในระดับสูงเพียงใด โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมอาจจะยังคงสูงถึง 8.5% ทำให้ BOE จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย +25bps สู่ระดับ 4.75% พร้อมกับส่งสัญญาณชัดเจนว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องยังมีความจำเป็น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้บ้าง ตามโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าในช่วงคืนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เรายังคงมองว่า เงินบาทอาจไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า ในการทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB และขายเงินดอลลาร์ สำหรับผู้ส่งออกบางส่วน
นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย เงินบาทก็มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ (ตลาดรับรู้ในช่วง 13.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ยังคงอยู่ในระดับสูง หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ BOE ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะช่วยหนุนให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง แต่ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นมาก โดยเราประเมินว่า แนวรับในระยะสั้นอาจอยู่ในโซน 34.60-34.70 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด รวมถึงแรงซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงนี้
ทั้งนี้ ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด หลังล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทย แต่ในส่วนตลาดบอนด์ยังไม่เห็นการกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยที่ชัดเจนอย่างที่เราประเมินไว้
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.90 บาท/ดอลลาร์