Economies

บาทอ่อน เปิดเช้า 36.72 บาทต่อดอลลาร์ ชี้ค่าเงินผันผวนห่วงเฟดขึ้นดอกเบี้ย-แนวโน้มเศรษฐกิจจีน
7 ก.ย. 2565

เงินบาทเปิดเช้านี้ อ่อนค่าลงที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ Krungthai Global Market ชี้ค่าเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีนจากปัญหาโควิด มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์ 


ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.48 บาทต่อดอลลาร์


คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์ 


โดยมองว่าแนวโน้มค่าเงินบาท ในระยะสั้นนี้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูงและมีโอกาสอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้านแถว 36.80-36.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ ท่ามกลางแนวโน้มขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังได้แรงหนุนจากความกังวลวิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรป ปัญหา COVID-19 ในจีน และแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุม ECB ในวันพฤหัสฯ
 

เงินบาทมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าในระหว่างวันได้ หากตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติม แต่เราคาดว่า แรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงได้ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจรอจังหวะการย่อตัวลงของตลาดหุ้นไทย (รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท) ก่อนที่จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง
 

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
 

ผู้เล่นในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญล่าสุด อย่าง ดัชนี PMI ภาคการบริการ โดย ISM ในเดือนสิงหาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.9 จุด ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 55.1 จุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 72% ที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน นอกจากนี้ มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดยังได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.34% (แรงหนุนบอนด์ยีลด์ระยะยาวอีกส่วนก็มาจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB) ซึ่งกดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Meta -1.1%, Amazon -1.1%, Microsoft -1.1%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงต่อ -0.74% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.41%

 
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ความกังวลวิกฤตพลังงานในยุโรปยังคงส่งผลให้ตลาดหุ้นฝั่งยุโรปเคลื่อนไหวผันผวน อย่างไรก็ดี ตลาดยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มยานยนต์ นำโดยการปรับตัวขึ้นของ Volkswagen +5.9% หลังบริษัทได้เตรียม IPO หุ้นบริษัทรถยนต์ Porsche  ทั้งนี้ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบและส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานยุโรปต่างปรับตัวลดลง (Equinor -6.7%, TotalEnergies -2.8%) จำกัดให้ดัชนี STOXX600 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นได้เพียง +0.24%
 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 110.3 จุด หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินดอลลาร์อยู่ ท่ามกลางความเสี่ยงวิกฤตพลังงานและปัญหาการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในฝั่งยุโรป อย่างไรก็ดี การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลงแรงอีกครั้ง สู่ระดับ 1,714 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งคาดว่าผู้เล่นบางส่วนอาจยังคงรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง
 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางเงินเฟ้อ เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดว่าจะยังคงเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อหรือไม่ ซึ่งเราประเมินว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ แต่อาจไม่ได้ฟันธงชัดเจนว่าเฟดจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและเน้นย้ำว่าความรุนแรงของการขึ้นดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับภาพเศรษฐกิจ (Data Dependent) 


ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดให้มุมมองดังกล่าว ก็อาจไม่ได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปมากนัก เพราะส่วนหนึ่งตลาดก็รับรู้แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนกันยายนไปมากแล้ว อีกทั้งผู้เล่นในตลาดอาจรอผลการประชุม ECB ในวันพฤหัสฯ นี้ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครองที่ชัดเจน  


 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com