เงินบาท “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”เปิดเช้านี้ที่ 35.30 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.45 บาท/ดอลลาร์ ไฮไลท์สำคัญวันนี้อยู่ที่การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนี PMI
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงเล็กน้อยและเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ (แกว่งตัวในช่วง 35.24-35.31 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการในวันหยุด Thanksgiving ทำให้โฟลว์ธุรกรรมในตลาดการเงินเบาบางลง ทั้งนี้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้โซน 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับน้ำมัน เนื่องจากในช่วงนี้ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควร ท่ามกลางปัจจัยกดดันด้านอุปสงค์ความต้องการใช้พลังงานที่อาจลดลงตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจหลัก ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความไม่แน่นอนของแนวโน้มนโยบายการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ซึ่งต้องรอจับตาการประชุม OPEC+ ในสัปดาห์หน้าอย่างใกล้ชิด
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด Thanksgiving ก่อนที่จะกลับมาเปิดทำการเพียงครึ่งวันในช่วงของการซื้อ ขาย วันศุกร์ ทำให้โฟลว์ธุรกรรมในตลาดการเงินอาจเบาบางลงในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ ในช่วง 21.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งรายงานข้อมูลดังกล่าวอาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนได้พอสมควร
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้น +0.27% หนุนโดยรายงานข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของทั้งยูโรโซนและอังกฤษ ที่ออกมาดีกว่าคาด (แต่โดยรวมยังคงสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน BP +1.6%, Shell +1.2% หลังเผชิญแรงเทขายหนักในช่วงนี้ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบก็เริ่มรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง
ในฝั่งตลาดบอนด์ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะยังคงแกว่งตัวในโซน 4.40%-4.50% และอาจผันผวนได้พอสมควรในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ โดยหากข้อมูลดังกล่าว ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ดังกล่าวก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัว sideway โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของฝั่งยุโรปออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดกลับมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 149.6 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.7 จุด (กรอบ 103.5-103.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า เงินดอลลาร์โดยรวมจะเคลื่อนไหว sideway แต่บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งยุโรปและเอเชียที่ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ก็เป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้และยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรวมถึงภาระหนี้สินของชาวอเมริกันที่เพิ่มสูงขึ้น หลังการเริ่มกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (Student Loans) อาจกดดันให้ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมพลิกกลับมาหดตัวลง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตที่อาจต่ำกว่าระดับ 50 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ขณะที่ภาคการบริการอาจยังคงขยายตัวได้ แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจลดลงสู่ระดับ 50.3 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 1990 ของเรา พบว่า หากทั้งดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ต่ำกว่าระดับ 50 จุด และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในฝั่งสหรัฐฯ นั้นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่เฟดจะตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ขณะเดียวกัน ก็อาจเพิ่มโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยลงได้เร็วขึ้นและลึกขึ้น กว่าที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ในทางกลับกัน หากรายงานดัชนี PMI สหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า ส่งผลให้เงินดอลลาร์ รวมถึง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราเริ่มเห็นความเสี่ยงที่เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยเฉพาะหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ก็จะเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ซึ่งต้องจับตา ทิศทางเงินดอลลาร์ที่ในช่วงเช้าอาจผันผวนไปตามค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังฝั่งญี่ปุ่นจะมีการรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง อัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ซึ่งจะส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทองคำ รวมถึง น้ำมันดิบ ก็จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้ในช่วงนี้ ซึ่งหากราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อ ก็จะยิ่งหนุนให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำและน้ำมันดิบ กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับมาเป็นฝั่งขายสุทธิมากขึ้น ทั้งหุ้นและบอนด์ โดยในฝั่งบอนด์ เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อาจเป็นเพียงการขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติ หลังบอนด์ยีลด์ไทยได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควร ขณะที่ โฟลว์ขายหุ้นไทยนั้น อาจยังมาจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและผลกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจยังดำเนินต่อไปได้ จนกว่านักลงทุนต่างชาติจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจและผลประกอบการของหุ้นไทยที่ดีขึ้น
อนึ่ง ในวันนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ในช่วง 21.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ราคาทองคำ และเงินบาท เคลื่อนไหวผันผวนได้พอสมควร
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.45 บาท/ดอลลาร์