ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.86 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 34.68-34.91 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อาทิ ประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 รวมถึงดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ต่างออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งผลให้เฟดสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตามคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม (Risk-On) ซึ่งลดความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ยังได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ หลังจากเผชิญแรงขายทำกำไรในวันก่อนหน้า หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ Nvidia +1.8%, Alphabet +1.5% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมั่นใจว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.26% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.03%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.21% ท่ามกลางแรงขายทำกำไร หลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปได้ปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้า จากความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อนึ่ง ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนยังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นยุโรป ผ่านแรงขายหุ้นกลุ่มยานยนต์และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ Ferrari -2.5%, Kering -1.2%
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวลดลงใกล้โซน 3.82% ก่อนที่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดรวมถึงแรงขายทำกำไรจะช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 3.90% อีกครั้ง ซึ่งการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ดังกล่าว ยังคงสอดคล้องกับสิ่งที่เราประเมินไว้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเคลื่อนไหวผันผวน และมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ทำให้เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยต้องคอยระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ขณะเดียวกัน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ลดความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลงบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 101.8 จุด (กรอบ 101.7-102.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความหวังของบรรดาผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 2,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนกลับมาขายทำกำไรทองคำอีกครั้ง โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนพฤศจิกายน โดยต้องจับตาว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ในส่วนภาคการบริการที่ไม่รวมผลของราคาที่อยู่อาศัย (Core Services ex Housing) ซึ่งข้อมูลที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิด จะชะลอตัวลงต่อเนื่องได้หรือไม่ เพราะหากอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวกลับเร่งตัวขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง ซึ่งอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งอังกฤษ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤศจิกายน โดยหากภาพการใช้จ่ายของผู้คนในอังกฤษยังคงขยายตัวได้ดี ก็อาจช่วยลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ BOE ลงได้บ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้ หรือ หากยอดค้าปลีกขยายตัวดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้เงินปอนด์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้างเช่นกัน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาอาจชะลอลงได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ว่าจะมีทิศทางชะลอตัวลงตามคาดหรือไม่ ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในโซน 34.65-34.85 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ทั้งนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ อาจช่วยหนุนให้ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อได้ เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยเข้าซื้อหุ้นไทย เพื่อลุ้น Year-end Rally ต่อได้บ้าง โดยแรงซื้อหุ้นไทยดังกล่าว อาจช่วยหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้ ทว่า เราเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ ซึ่งอาจลดทอนผลของแรงซื้อหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ เรามองว่า บรรดาผู้นำเข้าอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้ เงินบาทอาจยังไม่ผ่านโซนแนวรับ 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.90 บาท/ดอลลาร์