สถานการณ์ความวิตกกังวลเศรษฐโลกจะถดถอย จากผลกระทบของประเทศมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐ และฝั่งยุโรป ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร๋งตัวและแรงขึ้น เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่ดีดขึ้นแรง อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชะลอตัวจนถึงระดับถดถอยในบางประเทศ และกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนหลายสกุล หลังจากค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ด้านค่าเงินบาทที่อ่อนตัวจนเกือบหลุด 37 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) ได้พบสื่อมวลชน ให้สัมภาษณ์หัวข้อ Policy Nomalization:ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องไม่สะดุด" ดังต่อไปนี้
ฉายภาพ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหน?
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้างจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 63 หดตัว 6.2% และเกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) จากการจ้างงานที่ลดลง อีกทั้งการฟื้นตัวก็ยังช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เพราะพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงถึง 12% ของ GDP ด้วยเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและมีความเสี่ยงสูง ภาครัฐและ ธปท. จึงต้องผสมผสานนโยบายการคลังและการเงินอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้และระบบสถาบันการเงิน (สง.) ยังทำงานได้ตามปกติ ซึ่งถือว่าทำได้ดี สะท้อนจากสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ไทยในปี 63-64 ยังโตได้ดีที่ 5-6% เทียบกับก่อนโควิดที่ 4-5%
มาวันนี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และคาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดย GDP ปี 65 และ 66 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.3% และ 4.2% ตามลำดับ
ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้น จำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานคาดว่าจะปรับลดลงมาที่ 2.4 ล้านคนในปี 66 ซึ่งใกล้ระดับก่อนโควิดที่ 2.3 ล้านคน ส่วนรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรคาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น 12% ในปีนี้ จากที่เคยหดตัวถึง 18% ในปี 63
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง (K-shaped) กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกฟื้นตัวได้ดีเกินกว่าช่วงก่อนโควิดไปแล้ว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแม้ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดค่อนข้างมาก โดยในปีนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 6 ล้านคน หรือ 15% ของจำนวนก่อนโควิด
ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานด้วยราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นหลัก โดยเห็นการส่งผ่านต้นทุนในประเทศมากขึ้นและมีการกระจายไปยังสินค้าหลายหมวด รวมถึงหมวดในกลุ่มเงินเฟ้อพื้นฐาน อาทิ ราคาอาหารสดและก๊าซหุงต้มที่ส่งผ่านไปราคาอาหารสำเร็จรูป ต้นทุนเคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และค่าขนส่งที่ส่งผ่านไปราคาสินค้าหมวดของใช้ส่วนตัว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 และ 66 จะอยู่ที่ 6.2% และ 2.5% ตามลำดับ
มองไปข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง จากการที่ต้นทุนหลายด้านปรับสูงขึ้นพร้อมกัน รวมทั้งผลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้การส่งผ่านอาจมากและเร็วกว่าคาด และอาจมีแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินและมาตรการทางการเงินต้องปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินและสมดุลความเสี่ยงใหม่ที่ให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อมากขึ้น
แจง ธปท. อยากเห็นอะไรในบริบทเศรษฐกิจเช่นนี้?
เป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายในช่วงนี้ คือ "ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ไม่สะดุด" และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สิ่งที่เราอยากเห็นมี 2 ส่วนหลัก คือ
1. เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน หรือมีเสถียรภาพด้านราคา เพราะเงินเฟ้อที่สูงจะส่งผลต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้มีรายได้น้อย เพราะรายได้หลักของคนกลุ่มนี้มักมาจากเงินเดือนหรือค่าจ้างเพียงแหล่งเดียว และเงินออมส่วนใหญ่เป็นเงินฝากที่มักถูกเงินเฟ้อกัดกร่อนได้มาก นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดอาหารและพลังงานกว่า 55% เทียบกับคนรายได้สูงที่ 42% ซึ่งตั้งแต่ต้นปี เงินเฟ้อหมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 4.8% และหมวดพลังงานอยู่ที่ 29.8% นอกจากนี้ หากเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องนาน จะทำให้คนคิดว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อไปเรื่อย ๆ และยากที่จะปรับลดลง ผู้ประกอบการจึงอาจปรับขึ้นราคาสินค้า และลูกจ้างอาจขอขึ้นค่าจ้างต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มเร็วขึ้น (เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด)
2. ระบบการเงินและระบบ สง. ทำงานได้ตามปกติ ไม่สะดุด เพราะเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาภาคธนาคารเป็นหลัก โดยกว่า 90% ของธุรกิจและครัวเรือนไทยพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารและ non-banks รวมถึง สง. ยังต้องทำหน้าที่เป็นกลไกส่งผ่านการช่วยเหลือไปยังลูกหนี้เปราะบางและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อระบบ ธพ. ของไทยยังโตได้ดี ณ พ.ค. 65 โต 6.4% และสูงกว่าบางประเทศในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ (3.2%) และมาเลเซีย (5.1%)
การที่ระบบ ธพ. จะไม่สะดุด ต้องเห็น (1) ธพ. มีฐานะแข็งแกร่ง หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต้องไม่เร่งขึ้นเร็วจนทำให้ระบบ ธพ. บริหารจัดการไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของระบบ ธพ. (NPL ratio) ยังต่ำต่อเนื่อง ณ พ.ค. 65 อยู่ที่ 2.96% ลดลงจากช่วงก่อนโควิด ณ Q1/63 ที่ 3.04% ส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 20% อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR) อยู่ที่ 190% และอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 166%
(2) ลูกหนี้รอดไปได้มากที่สุด โดยมาตรการต้องตรงจุดและตอบโจทย์ ใช้ทรัพยากรพอเหมาะ เพราะจะช่วยให้ ธพ. รอดไปด้วย และ (3) การทำงานของระบบ สง. ไม่ทิ้งผลข้างเคียงให้กับระบบการเงินโดยรวม ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การคงมาตรการการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้าง (broad-based) ไว้นานเกินไป อาจบิดเบือนกลไกการทำงานและลดทอนประสิทธิภาพของระบบ สง. ในระยะยาวได้ เช่น การคงมาตรการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ออกไปอีก อาจทำให้ สง. บริหารความเสี่ยงไม่เหมาะสม อีกทั้งยังกระทบภาระทางการคลัง ขณะที่การจำกัดการจ่ายปันผลของ ธพ. เป็นเวลานาน อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน นักวิเคราะห์ และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อีกทั้งต่างประเทศได้ทยอยยกเลิกมาตรการนี้แล้ว
ธปท. จะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย?
ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจน นโยบายหรือมาตรการทางการเงินแบบวงกว้างจึงมีความจำเป็นลดลง และสามารถทยอยปรับกลับสู่ปกติได้ ดังนี้
1. นโยบายการเงิน แม้เงินเฟ้อที่สูงจะมาจากปัจจัยด้านอุปทาน ซึ่งนโยบายดอกเบี้ยไม่สามารถจัดการได้โดยตรง แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่านโยบายการเงินจะดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นต่อในระยะข้างหน้า ในทางกลับกัน หากเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอีก แต่เรายังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงลดลงไปอีก กลายเป็นเราเหยียบคันเร่งให้เศรษฐกิจ และนโยบายการเงินยิ่งผ่อนคลายมากขึ้น ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงยังติดลบที่ 5.70% และธุรกิจมีต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงผ่านการออกตราสารหนี้ติดลบที่ 4.3% ต่ำกว่าสิ้นปีก่อนมากที่ 0.2%
"การขึ้นดอกเบี้ยที่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด" ควรทำแต่เนิ่น ๆ เมื่อเห็นสัญญาณ เพราะการส่งผ่านนโยบายการเงินต้องใช้เวลา หากช้าเกินไป อาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด และต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อดูแลภายหลัง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว แรงส่งที่จะทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดยังมีไม่มาก อีกทั้ง "เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง" ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยจึงยังไม่ช้าไป นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยควรทำแบบ "ค่อยเป็นค่อยไป" เพื่อทยอยถอนคันเร่ง แต่ยังไม่ต้องเหยียบเบรกหรือเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงเร็วไป จนประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการที่สุด
ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับต่างประเทศ เพราะบริบทเศรษฐกิจการเงินช่วงนี้ต่างกัน เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวกลับมาดีกว่าช่วงก่อนโควิดแล้วตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 64 และเงินเฟ้อสูงขึ้นมากจากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดี จึงต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรงและเกิด soft landing ขณะที่ไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว การขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เป็น smooth take-off
2. มาตรการทางการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้าง ต้องทยอยปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ปัจจุบัน ฐานะ สง. ยังแข็งแกร่ง โดยมีเงินกองทุน สภาพคล่อง และเงินสำรองที่สูงเพียงพอในการรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ขณะที่หากทำมาตรการที่เป็นวงกว้างนานเกินไป จะส่งผลข้างเคียงต่อระบบการเงินในระยะยาวได้ ดังนั้น จึงควรปรับมาตรการให้กลับมาสู่ระดับปกติมากขึ้น ได้แก่ (1) ยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผล และ (2) ปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF กลับมาที่ 0.46% ต่อปี ให้มีผลตั้งแต่ปี 66
การปรับมาตรการสู่ภาวะปกติมีผลข้างเคียง แต่ชั่งน้ำหนักแล้วคุ้ม โดยผู้ฝากเงินจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้บางประเภทที่ได้รับดอกเบี้ยลอยตัว (float) แม้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ผลของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนจะน้อยกว่าผลของเงินเฟ้อที่จะลดทอนกำลังซื้อของประชาชน
โดยการประเมินของ ธปท. พบว่าดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของครัวเรือนที่มีหนี้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.5% เทียบกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อที่ 3.6% ซึ่งมากกว่าผลของการขึ้นดอกเบี้ยกว่า 7 เท่า
นอกจากนี้ กรณีลูกหนี้เก่า หากเป็นสินเชื่อรายย่อย ประมาณ 60% ได้รับดอกเบี้ยคงที่ (fixed) อยู่แล้ว เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ บัตรเครดิต ส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อบ้าน แม้ดอกเบี้ยส่วนใหญ่เป็น float แต่จะกำหนดค่างวดไว้ก่อนแล้ว โดย สง. จะเผื่อดอกเบี้ยที่อาจปรับเพิ่มขึ้นไว้ในค่างวด ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ลูกหนี้ธุรกิจเกือบทั้งหมดจะเป็นดอกเบี้ยลอยตัวตาม M-rate กรณีลูกหนี้ใหม่ ได้รับผลกระทบบ้างจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ดังนั้น ลูกหนี้ควรประเมินรายได้และรายจ่ายก่อนก่อหนี้ใหม่ ทั้งนี้ การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่สูง จึงยังคุ้มค่ากว่า
อย่างไรก็ดี ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่กลับมาเต็มที่ เช่น ลูกหนี้รายย่อยที่มีสินเชื่อไม่มีหลักประกัน และภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ธปท. จึงยังต้องดำเนินมาตรการเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. ผลักดันมาตรการเฉพาะจุดที่ยังมีผลอยู่ ทั้งการแก้หนี้เดิมผ่านมาตรการหลัก คือ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. ซึ่งยังมีผลใช้ได้จนถึงสิ้นปี 66 และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่มีผลถึงสิ้นเดือน เม.ย. 66 การเติมเงินใหม่อย่างมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ยังมีผลถึงสิ้นเดือน เม.ย. 66 และอีกหลายมาตรการ มาตรการส่วนใหญ่มีผลบังคับใช้ “อย่างน้อย” ถึงปี 66 สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดย ธปท. พร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้ยืดหยุ่น ตามสถานการณ์และบริบทของลูกหนี้
2. เพิ่มมาตรการดูแลลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ยังกลับมาไม่เต็มที่ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเพิ่มมาตรการให้ตรงกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม สำหรับกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ให้คงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% ถึงปี 66 และคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 12 เดือนออกไปอีก 1 ปี ถึงปี 66 ส่วนกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย จะปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของคลินิกแก้หนี้ รวมทั้งจะมีการจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ จำนำทะเบียน นาโนไฟแนนซ์ ในไตรมาส 3 ของปีนี้
โดยรวม การปรับนโยบายและมาตรการทางการเงินของ ธปท. ในระยะต่อไป จะยังเน้นการมองภาพเศรษฐกิจการเงินที่เชื่อมโยงอย่างรอบด้าน และมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพื่อให้การทยอยปรับนโยบายที่เข้าสู่ภาวะปกติในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและยังไม่ทั่วถึง ได้ผลตามที่ต้องการ คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด และมีผลกระทบข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด
ส่วนต่างดอกเบี้ยที่กว้าง ค่าบาทอ่อน เงินไหลออก ทุนสำรองลดลง ไม่น่าห่วงมาก
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐ ที่กว้างขึ้น ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากไทย แต่ยังมีปัจจัยอื่น เช่น การฟื้นคัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพของเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2565 ประเทศไทยยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ( Ytd ณ 18 ก.ค.65) จำนวน 3.5 พันล้านดอลลาร์ ทั้งจากพันธบัตรและหุ้น โดยที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.5% มีส่วนต่างกับเฟดราว - 1.25%
ขณะที่ประเทศที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าสหรัฐ เช่น อินเดีย ดอกเบี้ยสูง 4.95% ส่วนต่างดอกเบี้ยกับเฟด +3.15% เงินทุนยังไหลออกถึง 31.7 พันล้านดอลลาร์ อินโดนีเซีย ดอกเบี้ยนโยบาย 3.30 % ส่วนต่างดอกเบี้ยกับเฟดราว +1.75% มีเงินไหลออกราว 3 พันล้านดอลลาร์
"ส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อเงินทุน แต่ยีงมีปัจจัยอื่น ตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากสกุลดอลลาร์แข็งค่าเป็นหลัก และปกติเงินบาทมักเคลื่อนไหวจากปัจจัยภายนอกอย่างทิศทางสกุลเงินต่างประเทศ ถึง86% โดยที่ผ่านมา ราคาของเงินสกุลดอลลาร์ ที่แพงขึ้น ดังนั้นในช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้าไทย เงินบาทก็อ่อนค่าได้"
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง ไม่ได้เกิดจากธปท. เข้าไปแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเสมอไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองฯ มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1ปัจจัยแรกผลตอบแทนการลงทุน หากผลตอบแทนลดลงหรือติดลบ ก็จะทำให้ทุนสำรองฯลดลง ในทางกลับกันหากเพิ่มขึ้น ทุนสำรองฯก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจัยที่ 2 การตีมูลค่าของสินทรัพย์ (Valuation) และปัจจัยที่ 3 การดำเนินนโยบายค่าเงิน การเข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเมื่อมีความผันผวนรวดเร็ว
ในปัจจุบัน งเงินทุนสำรองฯที่ลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าสินทรัพย์กลับมาในรูป ดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก เพราะดอลลาร์ฯแข็งค่าจึงทำให้ทุนสำรองฯลดลงได้และยังมีเรื่องของราคาทองคำที่ลดลงด้วย ซึ่งทุนสำรองฯมีการถือทองคำ เพราะฉะนั้น การที่เงินทุนสำรองฯที่ลดลงมาก จึงไม่ได้เกิดจากใช้พยุงค่าเงินบาทปัจจัยเดียว เช่นเดียวกับเงินทุนสำรองฯของประเทศอื่นๆปรับลดลง เช่นกัน ซึ่งหลายประเทศไม่ได้ใช้พยุงค่าเงิน
พร้อมกับยืนยันว่า เงินทุนสำรองฯที่ลดลง ไม่กระทบเสถียรภาพการเงินไทยเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี2540 เนื่องจาก ปัจจุบันไทยมีเงินทุนสำรองฯสูง 2.47 แสนล้านดอลลาร์ หรือ51%ของGDP สูงเป็นอันดับ 12และ 6ของโลก ตามลำดับซึ่งเสถียรภาพการเงินไทยมีควาแข็งแกร่งมากขึ้นจากปี 2540 ทุนสำรองต่อมูลค่านำเข้าสูง 9.6 เท่า ดุลบัญชีเดินสะพัด ปีนี้คาด 1.5%ของ GDP และปี 66 อยู่ที่ 0.9%ของ GDP แตกต่างกับยุควิกฤตที่ติดลบหมดทุกตัว
"หากดูว่าทุนสำรองฯที่เรามีเพียงพอแค่ไหนนั้น จะเทียบขนาดทุนสำรองฯกับความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศ ซึ่งขึ้นกับหนี้ต่างประเทศ เรามีแค่ไหน ปัจจุบันเรามีสัดส่วนทุนสำรองฯสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นราว 2.6เท่า ถือว่า ไทยมีทุนสำรองฯสัดส่วนที่สูง เพราะไทยมีหนี้ต่างประเทศต่ำมาก ในแง่เสถียรภาพของทุนสำรองฯ จึงไม่ได้น่ากลัว ซึ่งแตกต่างกับสมัยปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งสมัยนั้น บริษัทเอกชนมีหนี้ต่างประเทศเยอะมาก ประกอบกับตอนนี้ ค่าเงินบาทคงที่จาก25 บาท/ดอลลาร์ มีการปล่อยลอยตัวค่าเงิน เคลื่อนไหวอ่อนค่ามาเป็น 52 บาท/ดอลลาร์ จึงทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงเท่าตัวด้วย แต่ตอนนี้ เงินบาทไม่ได้อ่อนมากขนาดนั้น ผลของค่าเงินบาทอ่อน จึงไม่ได้กระทบมากจนน่าเป็นห่วงมากนัก แต่เราก็ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด ทิศทางของค่าเงินบาทอ่อน เราปล่อยตามกลไกตลาด แต่ที่เราไม่อยากเห็น คือ เงินบาทปรับตัวเร็วเกินไป ทำให้มีบางช่วงบางจังหวะที่ต้องไปดูแล นั่นคือ เราจะดูที่มาของค่าเงินที่เปล่่ยนแปลงเร็ว และสปีดของมัน เช่น เฟดจะเหยียบเบรกแรง ทำให้พื้นฐานของค่าเงินดอลลลาร์แข็งขึ้น กระทบเงินบาทอ่อน ธปท.ก็ต้องเข้ามาช่วยบริหารจัดการไม่ให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป"
สิ่งที่เราอยากเห็น คือ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจควรทป้องความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) ซึ่งบ้านเราส่วนมใหญ่มีแต่บริษัทรายใหญ่ทำมากกว่า แต่บริษัทรายเล็กไม่ค่อยทำเพราะมีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนเพิ่มชึ้นของผู้ประกอบการ
สิ่งที่ธปท. ห่วงมากกว่าเงินเฟ้อ คิอ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
จริงๆ สิ่งที่ผมห่วงและอยากเห็นมากกว่า คือ เรื่องของรายได้ที่กลับเข้ามา ซึ่งก็หวังว่า หากภาคท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วงที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นและคาดว่าปีนี้อาจมากกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีในครึ่งปีหลัง แม้จะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ ธปท. มีหน้าที่จัดการปัญหาเงินเฟ้อสูงซึ่งมาจากฝั่งซัพพลาย หลักๆเป็นต้นทุนจากพลังงาน และยังมีอีกหลายตัวที่สูง
เราจะพยายามขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อดิด และเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อเนื่อง ไม่สะดุด ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเห็นการขยายต้วที่สูงกว่าครึ่งปีแรก หลังจากที่ไตรมาสแรก GDPอยู่ที่ 2.2% และคาดการณ์ไตรมาสที่ 2 GDP มากกว่า 3% มีปัจจัยสนับสนุนจากส่งออกที่คาดโต 14.4% นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาราว 1.4 ล้านคน จึงเชื่อว่าปี 2565 คาดการณ์ GDP ขยายตัวได้ 3.3%
ดร.เศรษฐพุฒิ ประเมินว่า ความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เราคาดการณ์ว่า อาจจะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแต่ไม่ร้ายแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกบ้าง แต่ที่เราห่วงมากกว่าเรื่องเงินเฟ้อสูง คือ ภาคท่องเที่ยว เพราะหากเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเยอะ แต่ตอนนี้คิดว่า การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวยังน่าจะเห็นอยู่ อีกทั้งฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต่ำมากเมื่อปีที่แล้วเพียง 4 แสนคน ถ้าปีนี้เข้ามาตามที่คาด 6 ล้านคน ก็ดีใจแล้ว
พร้อมยืนยันทิ้งท้ายว่า เศรษฐกิจไทยไม่เกิด Stagflation หรือเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อสูงแน่นอน เนื่องจากปีที่แล้วฐานต่ำด้วย และปีนี้มีภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น