Krungthai GLOBALMARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นผลประกอบการบริษัทเทคฯ ใหญ่ในสหรัฐฯ Microsoft และ Alphabet รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBALMARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.32 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะ wait and see เพื่อรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ บริษัทเทคฯ ใหญ่ อาทิ Microsoft และ Alphabet (ซึ่งจะรับรู้ในช่วงหลังตลาดปิดทำการของวันอังคารนี้) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็ต่างรอประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแนวโน้มเงินเฟ้อ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง GDP ในไตรมาสแรก และอัตราเงินเฟ้อ PCE ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ยังคงเคลื่อนไหว sideways ปิดตลาด +0.09%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง -0.006% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร/การเงิน (Deutsche Bank, Santander และ UBS) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB อย่างไรก็ดี รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ที่ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 93.6 จุด ในเดือนเมษายน ก็สะท้อนว่าบรรดาผู้ประกอบการยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนี ซึ่งช่วยคลายความกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้บ้าง
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากสัปดาห์นี้จะไม่มีถ้อยแถลงจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดพยายามประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฟดสาขาชิคาโก้ รวมถึง ดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาดัลลัส ก็ออกมาสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ กอปรกับ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง (รอลุ้นผลประกอบการ) ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.48%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 101.3 จุด ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รับปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ที่ชัดเจน เพื่อรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ GDP ไตรมาสแรก รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ PCE และผู้เล่นบางส่วนก็อาจรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์นี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้น สู่โซนราคาแถว 2,005 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนที่เข้าซื้อสะสมในโซนแนวรับแถว 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจใช้จังหวะการรีบาวด์ดังกล่าวในการทยอยขายทำกำไรบางส่วน ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจให้ความสำคัญกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ บริษัทเทคฯ ใหญ่ในฝั่งสหรัฐฯ อย่าง Microsoft และ Alphabet เป็นหลัก ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในฝั่งสหรัฐฯ จะมี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board รวมถึง ดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาริชมอนด์ ซึ่งมีโอกาสที่ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาจสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในฝั่งภาคการผลิต ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็อาจลดลงบ้าง หลังตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็เริ่มชะลอตัวลงมากขึ้น
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ซึ่งผู้เล่นในตลาดประเมินว่า มีโอกาสที่ ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อครั้งละ 25bps ราว 3 ครั้ง นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปก็จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน
และในฝั่งไทย ตลาดคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอาจกดดันให้ ยอดการส่งออก (Exports) เดือนมีนาคมอาจหดตัวถึง -16%y/y สอดคล้องกับการปรับตัวลงแรงของดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคม อนึ่ง ยอดการนำเข้า (Imports) ก็อาจหดตัวราว -5%y/y ตามราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลราว -1 พันล้านดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อย่างไรก็ดีในระหว่างวันนี้ เราประเมินว่า เงินบาทยังคงมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ อาทิ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทอาจยังคงอยู่ใกล้เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถว 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ ควรรอจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ หลังล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งบอนด์ระยะสั้น (ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการเพิ่มสถานะ Long THB หรือมองเงินบาทแข็งค่าขึ้น ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้านแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนในฝั่งหุ้น แรงขายก็เริ่มลดลงและหากตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทยได้บ้าง ทำให้โดยรวมเรามองว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบเดิม และอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ที่ประเมินไว้ไปได้ไกล ยกเว้นว่า ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงชัดเจน และ/หรือ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (ดัชนีเงินดอลลาร์หรือ DXY แข็งค่าทะลุ 102.5 จุด)
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์