เงินบาท “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”เปิดเช้านี้ที่ 34.55 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์ จับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลการประมูลพันธบัตร 5 ปี สหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.59 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะ sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.51-34.63 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามการย่อตัวลงของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องไปมาก หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นใกล้โซนแนวต้านอีกครั้ง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.42% สอดคล้องกับการประเมินสัญญาฟิวเจอร์สของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ของเราในวันก่อนหน้า โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้พอสมควรในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง แต่ไม่ถึงกับเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 3.90% โดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ อาทิ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนมกราคมปีหน้า ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครองบอนด์ที่ชัดเจนต่อไป นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะยังมีการประมูลบอนด์อายุ 5 ปี และ 7 ปี ทั้งนี้ เรามองว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาด (รวมถึงเรา) ที่คาดว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลงได้พอสมควรในปีหน้านั้น อาจยังไม่ได้สอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด ทำให้เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ได้ส่งผลให้โดยรวม เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงสู่ระดับ 101.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.4-101.8 จุด) อนึ่ง จากการวิเคราะห์เชิงเทคนิคัล เรายังคงเห็นว่า แม้เงินดอลลาร์จะย่อตัวลง ทว่า สัญญาณ RSI Bullish Divergence ทั้งใน Time Frame Day, H4 ยังคงมีอยู่ ทำให้เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยการปรับตัวลงต่อก็อาจจำกัดลง ซึ่งต้องจับตามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะพลิกกลับมา “ปิดรับความเสี่ยง” หรือไม่ รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้จะออกมาดีกว่าคาดมากน้อยเพียงใด ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) จะได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ แต่ราคาทองคำก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นผ่านโซนแนวต้าน 2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ง่ายนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอขายทำกำไรทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เชิงเทคนิคัล โมเมนตัมขาขึ้นของราคาทองคำยังคงมีอยู่ ใน Time Frame Daily และ H4 ทว่าใน Time Frame ที่สั้นลง ทั้ง H1 และ m15 ได้เริ่มชี้ว่า โมเมนตัมขาขึ้นได้แผ่วลง และราคาทองคำอาจย่อตัวลง หรือ แกว่งตัว sideway ได้
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจและสำคัญอาจมีไม่มากนัก โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการที่สำรวจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ อาทิ ดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย เฟด สาขาริชมอนด์ เป็นต้น ซึ่งต้องระวังในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวออกมาดีกว่าคาดไปมาก จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า
นอกจากนี้ เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นผลการประมูลบอนด์ 5 ปี สหรัฐฯ ในช่วงเวลาราว 1.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ที่ 28 ธันวาคม ตามเวลาในประเทศไทย
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับเป้าสิ้นปีของเราที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ถึงจะเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของเงินบาท ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ทว่าการอ่อนค่าดังกล่าวก็ถูกชะลอลงด้วยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังพยายามที่จะปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น ทำให้ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิดต่อไป นอกจากนี้ ควรจับตาการเคลื่อนไหวของดัชนี SET หลังล่าสุด ดัชนี SET ได้ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านก่อนหน้า ซึ่งทั้งสองครั้งล่าสุด โซนดังกล่าวก็เป็นจุดกลับตัวของดัชนี SET และเห็นแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์