กสิกรไทย ร่วมกับลอมบาร์ด ส่องเศรษฐกิจโลกปีนี้โตชะลอลง ชี้โควิดโอมิครอน – เงินเฟ้อสูง – นโยบายเฟด” กระทบลงทุนชั่วคราว แนะปรับกลยุทธลงทุน “หุ้น-ตราสารหนี้” เลือกรายภูมิภาค-อุตฯ เน้นหุ้นคุณค่า–วัฎจักร และสินทรัพย์นอกตลาด หนุนเพิ่มผลตอบแทนพอร์ต
KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจ ไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “THE CYCLE IS MATURING” เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเผยคำแนะนำการลงทุนสำหรับจัดพอร์ตปี 2565 โดยคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้เติบโตชะลอตัวลง และยังมีอีกหลายประเด็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับการลงทุน จึงแนะนำนักลงทุนเตรียมพร้อมและปรับกลยุทธ์การลงทุนตามสถานการณ์โลกเพื่อรักษาผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนให้ยั่งยืน ด้วยมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกของ Lombard Odier ให้น้ำหนักลงทุนหุ้นคุณค่า หุ้นวัฏจักร ภูมิภาคเด่นปีนี้เป็นยุโรปและญี่ปุ่น และหุ้นกู้เอกชน High yield ในเอเชีย ย้ำดูแลความเสี่ยงลดผันผวนด้วยการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ผ่านกองทุนผสมและสินทรัพย์ทางเลือก สำหรับรายละเอียดมีดังต่อไปนี้
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่าน การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง แต่ก็กลับมาฟื้นตัวได้ดี เพราะโอมิครอนจะแพร่ระบาดได้ง่ายแต่อาการไม่รุนแรง ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจำกัด ส่งผลให้ผลตอบแทนรวมจากดัชนีหุ้นโลก MSCI All Country World Index ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่บวก 18.5% ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดตลอดกาล สำหรับในปีนี้ ธนาคารยังมองว่าเศรษฐกิจโลกจะยังเติบโตได้ราว 3-4% เนื่องจากภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลัก ๆ ทั่วโลก ทั้งด้านการค้า การผลิต การบริโภค การเดินทาง ยังอยู่ในเกณฑ์ดี กลับเข้าสู่ระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นความเสี่ยงอีกหลายปัจจัยที่อาจจะส่งผลลบต่อภาคการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น
-เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 7% ในเดือนธันวาคม 2564 จนเกิดความกังวลว่าเงินเฟ้อจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ถ้าหากปัญหาคอขวดอุปทานไม่คลี่คลายในเร็ว ๆ นี้
-ด้วยเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ต้องเข้มงวดนโยบายเร็วกว่าที่ประเมินไว้ และอาจบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
-เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และมาตรการควบคุมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี
-ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งประเด็นไต้หวัน อิหร่าน การเลือกตั้งในฝรั่งเศส ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและประเทศอื่น ๆ
นางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director - Financial Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกประสบกับภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จนเกิดความกังวลว่าเงินเฟ้อสูงไม่ใช่เรื่องชั่วคราว (Transitory) อีกต่อไป ขณะที่ Lombard Odier คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงในปีนี้ จากระดับสูงที่ 7% ในช่วงปลายปี 2564 โดยปัจจัยที่กดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจะคลี่คลายลง ได้แก่
-ด้านอุปทาน (Supply) ที่เริ่มมีการขยายตัวมากขึ้น จากการคลี่คลายของ 2 ปัจจัย ได้แก่ 1) ปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทาน ที่เกิดจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งด้านการขนส่ง และปัญหาการขาดแคลนสินค้า เริ่มมีการผ่อนคลาย และ 2) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวลง
-ด้านความต้องการซื้อ (Demand) ที่มีแนวโน้มขยายตัวลดลง เนื่องจาก 1) ความต้องการซื้อที่เคยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent-up demand) หลังการเปิดเมือง ค่อย ๆ หมดไป และ 2) มาตรการเยียวยาขนานใหญ่ที่รัฐบาลต่าง ๆ อัดฉีดเงินสู่มือประชาชนได้จบลงไปแล้ว
นอกจากนี้ Lombard Odier มองว่า FED ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว (Hawkish) น้อยกว่าการคาดการณ์ของตลาด ที่ประเมินว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ถึง 4 ครั้ง โดยเริ่มครั้งแรกในเดือนมีนาคม
“Lombard Odier คาดว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2-3 ครั้งในปีนี้ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 และ Lombard Odier ยังเชื่อว่าแม้ FED จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ก็จะไม่บั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะยังมีต้นทุนการกู้ยืมที่อยู่ในระดับต่ำ หลังจากที่ผ่านมามีการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด19”
จีนผ่อนคลายนโยบายการเงินหั่นดอกเบี้ย 0.05%
ด้านภาพรวมของจีนในปีนี้จะแตกต่างกับสหรัฐฯ โดยเศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวได้ก่อน จีนจึงเข้าสู่ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวก่อน ทำให้นโยบายการเงินและการคลังของจีนผ่อนคลาย แตกต่างจากในสหรัฐฯ ที่เริ่มถอนสภาพคล่อง โดยเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) 0.5% และลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.05% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าปีนี้จีนจะผ่อนคลายนโยบายการเงิน
ด้านนโยบายการคลังก็คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แม้จะไม่ใหญ่เท่ากับช่วงวิกฤตโควิด 19 แต่จะเป็นนโยบายแบบตรงจุดไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมายเท่านั้น เพื่อไม่ให้ระดับหนี้สูงขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาจีนได้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเยอะขึ้นเพื่อนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และนอกจากนั้นช่วงไตรมาส 4 ยังมีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะมีการโหวตให้ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง เป็นประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3 และจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศอีก 7 ตำแหน่ง ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการเมือง รัฐบาลมักจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ในขณะที่ข้อบังคับที่เข้มงวดที่กดดันตลาดหุ้นจีนในปีที่ผ่าน คาดว่าจะเบาลงในปีนี้ โดยจะเน้นไปที่การบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ออกมาปีที่แล้วมากกว่าออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ
แนะหุ้น-ตราสารหนี้ เน้นเลือกภูมิภาค-กลุ่มอุตฯ
ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Senior Managing Director - Private Banking Business Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ดีของตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ดัชนี S&P 500) ที่ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นที่สุด ที่ 28% หนุนโดยกลุ่มพลังงาน เทคโนโลยี และการเงิน สำหรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุนในปี 2565 ได้แก่
-ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น Lombard Odier ก็ยังคงมีมุมมองบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ แต่อย่างไรก็ดี การคัดเลือกภูมิภาคหรือกลุ่มอุตสาหกรรม จะเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนในปีนี้ หลังมูลค่าหุ้นในบางตลาดอาจจะแพงเกินไปแล้ว โอกาสที่หุ้นทุกตลาดจะปรับตัวขึ้นได้ดีเหมือนปีที่ผ่านมาอาจจะมีความเป็นไปได้ที่น้อยลง โดยให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) และหุ้นคุณค่า (Value Stock) มากกว่า เพราะมักจะได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อขาขึ้น และบอนด์ยีลด์ขาขึ้น เช่น หุ้นกลุ่มการเงิน และหากดูตามภูมิภาค แนะนำเน้นลงทุนในยุโรป และญี่ปุ่น ที่คาดว่านโยบายการเงินจะผ่อนคลายตลอดปี ต่างจากสหรัฐฯ ที่กำลังเข้มงวด
-ในด้านตราสารหนี้ Lombard Odier แนะนำให้ “ลด” สัดส่วนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) เนื่องจากให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำไม่สามารถชดเชยราคาที่จะถูกกดันจากบอนด์ยีลด์ขาขึ้นได้ และเลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในเอเชียที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (High Yield) และพันธบัตรรัฐบาลจีนให้ผลตอบแทนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
-เพิ่มสัดส่วนเงินสดในพอร์ตเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้น หากตลาดมีการปรับฐานก็สามารถใช้โอกาสการเข้าซื้อในราคาที่ต่ำลง
กระจายหลายๆสินทรัพย์ผ่านกองทุนผสม ลดพอร์ตเสี่ยง
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารยังคงแนะนำกระจายการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ผ่านกองทุนผสมเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลง ทั้งกองทุน K-GA, K-GINCOME, K-GREAT, K-ALLROAD และ K-ALLGROWTH อีกทั้งยังคงปรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พอร์ตการลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ โดยนอกเหนือจากคำแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิมอย่างหุ้นและตราสารหนี้แล้ว ธนาคารยังแนะนำให้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity Fund) และหนี้ภาคเอกชน (Private Debt) ที่ราคาจะไม่ผันผวนตามตลาด แต่มูลค่าเงินลงทุนจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานจริงๆ รวมถึงตราสารหนี้ควบอนุพันธ์ (KIKO) ที่อ้างอิงกับตะกร้าหุ้นไทยและหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยรายเดือนสม่ำเสมอ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้าได้ในปี 2565 นี้
สำหรับความน่าสนใจลงทุนในจีน หลังจากเกิดปัญหาหุ้นกู้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์แล้ว ทำให้ตลาดมีความเสี่ยงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้สนับสนุนเรื่องการใช้พลังงานสะอาด ดังนั้น จึงมีโรดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หลังจากที่ประสบปัญหาใช้พลังงานจากถ่านหินสูง ทำให้ประเทศเกิดปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม EV ได้ ปรับตัวขึ้นแรง จึงทำให้หุ้นมีราคาแพง หากต้องการลงทุน ควรจะรอราคาพักฐานก่อน และควรกระจายการลงทุนในหลายๆ กลุ่มด้วย
“จีนกำลังมุ่งพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อให้เป็นประเทศที่ clean มากขึ้นในแง่ของสิ่งแวดล้อม จึงทำให้กลุ่ม EV ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็น crowd market ทุกคนวิ่งเขาไปซื้อ ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปเยอะแล้ว แต่บริษัท EV เป็นบริษัทขนาดเล็กยังมีการเติบโตน้อย ขณะที่หุ้นขึ้นไปเยอะแล้ว จึงยังไม่แนะนำลงทุนใน sector EV ในตอนนี้ เพราะราคาแพง” นายจิรวัฒน์ กล่าว