ส.ตราสารหนี้ คาดปี 65 เอกชนออกหุ้นกู้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท เป็นปีที่ 3 เนื่องจากต้องการเงินทุนขยายกิจการ รับเศรษฐกิจฟื้นตัวดี พร้อมล็อกต้นทุนก่อนดอกเบี้ยขึ้น เผยปีนี้ แนวโน้มต่างชาติขายบอนด์ไทยออก จากส่วนต่างผลตอบแทนบอนด์ไทย-สหรัฐ “แคบลง” สวนทางปีที่แล้วที่ต่างชาติแห่เข้าตลาดบอนด์บูม ระบุปีนี้กลุ่มระดมทุนสูง นำโดย พลังงาน ไฟแนนท์-ลีสซิ่ง อสังหาฯ และพาณิชย์
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รายงานมูลค่าการออกหุ้นกู้ (บอนด์) ระยะยาว ในปี 2564 ทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่สอง โดยมียอดการออกที่ 1.035 ล้านล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 50 จากปีก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นจากทั้งกลุ่ม investment grade และ high yield โดยหุ้นกู้ที่ออกในกลุ่ม high yeild ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้มีประกันที่กว่าร้อยละ 53 เป็นการค้ำประกันโดยนิติบุคคลอื่น
การออกตราสารหนี้ประเภทใหม่ที่เรียกว่า ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ sustainability-linked Bond (SLB) เป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม เช่นเดียวกับ ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมสังคมและความยั่งยืน (ESG bond)
SLB เป็นเทรนด์การลงทุนที่กำลังได้รับความนิยม โดยผู้ออกจะกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ต้องการบรรลุผลสำเร็จและเชื่อมโยงความสำเร็จกับการจ่ายอัตราดอกเบี้ย โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ออก 2 ราย คือ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มูลค่ารวม 1.1 หมื่นล้านบาท และบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท
ในขณะที่ ESG bond มีมูลค่าการออกในปี 2564 ที่ 1.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 จากปีที่แล้ว (ไม่รวมการออก SLB bond) ทำให้มูลค่าคงค้างของ ESG bond ณ สิ้นปี 2564 ขยายตัวขึ้นกว่า 2 เท่าจากปีก่อน แสดงให้เห็นว่าทั้งผู้ออกและนักลงทุนมีความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้การออกตราสารหนี้ประเภท Thai Overnight Repurchase Rate (THOR) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำมาทดแทนอัตราดอกเบี้ย THBFIX ที่จะยุติการเผยแพร่ในปี 2566 นั้น มีธนาคารแห่งประเทศไทยและบริษัทเอกชน 5 รายเป็นผู้ออก โดย ณ สิ้นปี 2564 มีตราสารหนี้อ้างอิง THOR มีมูลค่าคงค้างรวม 3.06 แสนล้านบาท
สำหรับการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ปรากฏว่าบริษัท ปตท ผลิตและสำรวจ จำกัด (มหาชน) (PTTEP) ประสบความสำเร็จเสนอขายต่อนักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรกในเอเชีย มูลค่า 6 พันล้านบาท และกระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” จำนวน 6 รุ่น จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่า 3.02 หมื่นล้านบาท
สำหรับผลตอบแทน ณ สิ้นปี 2564 พันธบัตรรัฐบาล อายุ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น0.27% จาก 0.39% เมื่อสิ้นปี 2563 มาอยู่ที่ 0.66%, รุ่นอายุ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.68% จาก 0.61% มาอยู่ที่ 1.29% และรุ่นอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.61% จาก 1.28% มาอยู่ที่ 1.90%.
นายธาดา พุฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากส่วนชดเชยส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ในปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกอันดับเครดิต ขณะที่ในปี 2564 ปรับตัวลดลงทุกอันดับเครดิต ท าให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หุ้นกู้อันดับเครดิตตั้งแต่ AA ขึ้นไปมี Credit spread อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าก่อนเกิดโควิดเมื่อปลายปี2562 แต่หุ้นกู้อันดับเครดิตตั้งแต่ A ลงไปยังมี Credit spread อยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดโควิด และเมื่อนำไปรวมกับ Bond yield อายุ 5 ปี สามารถสรุปได้ว่า ต้นทุนการออกหุ้นกู้ของผู้ออกอันดับเครดิต AAA และ AA อยู่ในระดับ “ใกล้เคียง” กับก่อนเกิดโควิด ในขณะที่ผู้ออกที่มีอันดับเครดิต A, BBB+, BBB และ BBB- ยังมีต้นทุน “สูงกว่า” ก่อนเกิดโควิดในระดับ 0.25%., 0.76%., 0.34% และ 0.12% ตามลำดับ
“จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ แนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การแพร่ระบาดของโควิดและทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำ เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยคาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทุกรุ่นอายุโดยรุ่นอายุ2 ปี คาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นราว 0.10% มาเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 0.75% ณ สิ้นปี2565 ส่วนรุ่นอายุ 5 และ 10 ปีคาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นประมาณ 0.50-0.60 % มาอยู่ที่ 1.7-1.8% และ 2.3-2.5% ตามลำดับ” นายธาดากล่าว
สำหรับปริมาณการออกหุ้นกู้ระยะยาว คาดการณ์ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2565 จะทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่สาม เนื่องจากเชื่อว่าบริษัทเอกชนไทยจะยังมีความต้องการลงทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่อยู่ในระดับสูงและสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังมีอยู่มาก ส่วนธุรกิจที่คาดว่าจะมีการระดมทุนสูงในปีนี้ ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน, ไฟแนนท์และลีสซิ่ง, อสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มพาณิชย์
ด้านนักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นปีที่แล้ว 1.02 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.8 ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย หลังจากที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.03 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 โดยปีที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ระยะยาว 1.41 แสนล้านบาท และตราสารหนี้ระยะสั้น 3.27 พันล้านบาท
“ปีที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติเข้าถือบอนด์ไทยสูงมาก เนื่องจาก Yield ไทยสูงกว่าสหรัฐ เงินเฟ้อสหรัฐสูง และค่าเงินบาทอ่อน จึงมีเงินไหลเข้ามากตลอดปี แต่ปีนี้อาจเห็นกลับข้างกัน เนื่องจากไทยกำลังเจอเงินเฟ้อสูง กระทบต่อ Yield Curve Gap แคบลง จึงอาจะเห็นเงินไหลกลับออกไป แต่ไม่ได้กระทบต่อตลาดตราสารหนี้รุนแรงมาก เนื่องจากในไทยก็มีสภาพคล่องสูง ซึ่งนักลงทุนในประเทศก็มีความต้องการลงทุนสูงเพียงพอรองรับเงินต่างชาติที่ไหลออก” นายธาดากล่าว