ธกส. จ่อคลอดสินเชื่อใหม่ ‘เกษตรวิวัฒน์’ เสิร์ฟกลุ่มมนุษย์เงินเดือนวฃก่อนเกษียณ วัย 50 ปีขึ้นไป เปิดทางกู้ซื้อที่ดินทำเกษตร-อุปกรณ์ สร้างอาชีพเสริมมีรายได้หลังเกษียณ วงเงินกู้รายละ 10 ลบ. กู้ยาว 15 ปี คาดชงบอร์ด ต.ค. นี้
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า มีแผนจะออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อตัวใหม่ คือ “ สินเชื่อเกษตรวิวัฒน์” เพื่อการลงทุนในอาชีพเกษตรกรรมสำหรับกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยสามารถกู้เพื่อใช้สำหรับซื้อที่ดินเพื่อการเกษตร การติดตั้งระบบและอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบน้ำ การสร้างโรงเรือนเพาะปลูก เป็นต้น ธ.ก.ส. สนับสนุนการสร้างอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้หลังวัยเกษียณ สินเชื่อดังกล่าวถือเป็นการตอบโจทย์การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย โดยจะนำเสนอคณะกรรมการ ธ.ก.ส. พิจารณาขออนุมัติภายในเดือนตุลาคมนี้
สำหรับคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อเกษตรวิวัฒน์ จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป วงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี อัตราดอกเบี้ยกู้ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติของธนาคาร โดยผู้ที่สนใจขอสินเชื่อดังกล่าว จะต้องลงทะเบียนเป็นเกษตรกรกับ ธ.ก.ส. ก่อน
“ ปัจจุบันคนมีอายุยืนขึ้น จำเป็นต้องมีรายได้เพื่อดำรงชีพหลังเกษียณ ส่วนคนที่อยู่ในเมืองที่เป็นมนุษย์เงินเดือน มีประสบการณ์ชีวิต ถือว่ามีพื้นฐานที่ดี ถ้าต้องการมีอาชีพเกษตรกรหลังเกษียณ
”ตามปกติแล้ว คนที่มีอายุตั้ง แต่ 50 ปีขึ้นไป หากต้องการสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากใกล้เกษียณอายุการทำงานแล้ว ขณะที่ ธกส. ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ต้องการสนับสนุน New comer ให้เข้าสู่ภาคการเกษตรมากขึ้นหากผู้กู้อยากจะเริ่มอาชีพเกษตรกรในช่วงวัย 50 ปี ก่อนเกษียณ เพราะยังมีสุขภาพแข็งแรงและทำเป็นอาชีพเสริม ก็จะทำให้พวกเขาสามารถมีรายได้รองรับหลังเกษียณได้“
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธกส.มีนโยบายในการส่งเสริมเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ให้เข้าสู่อายุการเกษตรมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงอายุ เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุมากขึ้น ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพนี้น้อยลง ดังนั้น ธกส.จึงทำโครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด โดยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยปกติของธกส.ราว 1 % เพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีการเกษตรมากขึ้น
” เราต้องการส่งเสริมเกษตรกรขนาดเล็ก ให้เข้มแข็ง โดยให้อยู่ในจุดที่สมดุล ระหว่างการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป เพื่อรักษา Eco System ของธุรกิจขนาดเล็ก ให้สามารถตั้งตัวได้ นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการในภาคการเกษตรขนาดเล็ก ที่ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และสามารถเข้าถึงจุดคุ้มทุน (Turn over) ได้เร็วด้วย“ นายฉัตรชัยกล่าว