กรุงศรี คาดสัปดาห์นี้เงินบาทซื้อขายในกรอบ 33.20-33.80 บาท/ดอลลาร์ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น จับตารายงานประชุมเฟดที่จะออกมา ตลาดจะติดตามบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ หลังบอนด์ยิลด์อายุ 2 ปี สูงเกินบอนด์ยิลด์อายุ 10 ปี ข้อมูลค่าจ้างมี.ค. สูงเกินคาด กดดันเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย กระทบเศรษฐกิจเติบโตระยะข้างหน้า ในไทย กนง.คงดอกเบี้ย พร้อมจับตาเงินเฟ้อสูงเดือน มี.ค.
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.80 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.46 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.19-33.80 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ในเดือนมีนาคม เงินบาทอ่อนค่าลง 1.9% แต่แข็งค่าเล็กน้อยราว 0.1% ในไตรมาส 1/65 ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.5% ตามคาด เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร แต่แข็งค่าเทียบกับเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยยูโรได้แรงหนุนจากสัญญาณเชิงบวกหลังการเจรจาสันติภาพรอบล่าสุดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ขณะที่เงินเยนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ท่ามกลางทิศทางการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันมากขึ้นระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) โดยบีโอเจประกาศเข้าแทรกแซงตลาดบอนด์เพื่อรักษาเพดานและสกัดการพุ่งขึ้นของยิลด์พันธบัตรญี่ปุ่น
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 10,563 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตรสุทธิ 294 ล้านบาท โดยมีตราสารที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติครบอายุ 4,258 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีคาดว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการเปิดเผยรายงานจากการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 15-16 มีนาคม ซึ่งเฟดเริ่มต้นวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ หลังยิลด์(อัตราผลตอบแทน)ระยะเวลา 2 ปี สูงเกินยิลด์ระยะเวลา 10 ปี ข้อมูลค่าจ้างเดือนมีนาคมสูงเกินคาด ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์มากขึ้นเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดซึ่งจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว ส่วนสถานการณ์การสู้รบในยูเครนและการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย รวมถึงการแพร่ระบาดในจีนอาจส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนได้เช่นกัน
สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ทางด้านกนง. คงดอกเบี้ยด้วยเสียงเอกฉันท์เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยธปท. ให้ความเห็นว่าดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างมีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งแม้จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ดูแลเงินเฟ้อได้ แต่กนง. ยังไม่ต้องการนำมาใช้ในเวลานี้ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นเกิน 5% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ก่อนที่จะลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 โดยผู้ดำเนินนโยบายจะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่อไป
อนึ่ง ท่าทีดังกล่าวสนับสนุนมุมมองหลักของกรุงศรีที่ว่ากนง. จะตรึงดอกเบี้ยไว้ตลอดปีนี้ท่ามกลางการฟื้นตัวที่เปราะบางของอุปสงค์ในประเทศ อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด การตัดสินใจด้านนโยบายจะเผชิญความท้าทายมากยิ่งขึ้น