Economies

เงินบาท“แข็งค่า”ไม่หยุด เปิดเช้านี้ที่ 34.36 บาท/ดอลลาร์
20 ส.ค. 2567

เงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.36 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ คาดจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.45 บาท/ดอลลาร์ รอประเมินทิศทางนโยบายการเงิน ECB และถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.36 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.46 บาทต/ดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรกเงินบาททยอยอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ทยอยปรับตัวลดลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นแถว 2,485 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะรีบาวด์สูงขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้านแถว 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ได้ทยอยอ่อนค่าลง พร้อมกับจังหวะการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว -100bps ในปีนี้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ พร้อมกับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่โซนแนวรับแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวได้ ก็อาจทยอยแข็งค่าทดสอบจุดแข็งค่าสุดในปีนี้แถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ประธานเฟดอาจส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยได้ในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดต่างก็คลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักมากขึ้น อนึ่ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ Nvidia +4.4% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.39% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.97%  

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.61% ตามอานิสงส์ของภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Rio Tinto +1.7% หลังราคาแร่โลหะได้ทยอยปรับตัวขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ 

 

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ในกรอบ 3.80%-3.90% หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole อนึ่ง ควรระวังจังหวะปรับตัวสูงขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หากตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยในปีนี้ ได้น้อยกว่า -100bps ที่ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เรายังคงคำแนะนำเดิม “เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip” หรือเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ส่วนจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นนั้น ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดพิจารณาขายทำกำไรได้บ้าง หากมีกลยุทธ์ Range-Bound Trading 

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดราว -100bps ในปีนี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.8-102.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าในช่วงแรกราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากแรงขายทำกำไร รวมถึงการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จนลงมาทดสอบโซนแนวรับ 2,520-2,530 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน 2,540-2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามจังหวะการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทองคำตามการเคลื่อนไหวของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงคืนที่ผ่านมา  

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกรกฎาคม 

 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Raphael Bostic (Fed Atlanta) และ Michael Barr (Vice Chair for Supervision) ในช่วงเช้าตรู่ของวันพุธที่ 21 สิงหาคม เพื่อประเมินมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ ทิศทางนโยบายการเงินของเฟด 

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่เราประเมินไว้ ทว่า เราเริ่มเห็นสัญญาณว่า การแข็งค่าขึ้นดังกล่าวของเงินบาทอาจชะลอลงบ้างในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ เรามองว่า ปัจจัยที่เคยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงก่อนหน้า อย่าง การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ก็เริ่มเจอโซนแนวต้าน ทำให้ในช่วงระยะสั้น ราคาทองคำก็มีความเสี่ยงที่อาจย่อตัวลง ทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นได้บ้าง จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวในทิศทางที่ชัดเจนขึ้น เช่น ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านและทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ หลังความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยทยอยคลี่คลายลง ทำให้ในเบื้องต้นเราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้โซน 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก หากยังไม่มีปัจจัยเข้ามากดดันเงินบาทที่ชัดเจน เช่น ตลาดกลับไปเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยราว -75bps หรือน้อยกว่านั้น ในปีนี้ (ซึ่งจะกระทบทั้งเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และราคาทองคำ) หรือ ตลาดการเงินไทยถูกกดดันโดยความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนโซนแนวรับของเงินบาทนั้น ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เงินบาทจะแข็งค่าหลุดโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะหากเงินบาทแข็งค่าทะลุโซนดังกล่าวได้จริง จะเปิดโอกาสให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ทดสอบจุดแข็งค่าสุดในปีนี้ แถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก 

 

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนทั้งในฝั่งแข็งค่าและอ่อนค่า ไปตามทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ในช่วงนี้ มีการเคลื่อนไหวในกรอบที่กว้างพอสมควร 145-148 เยนต่อดอลลาร์ ดังจะเห็นได้จากในช่วงวันก่อนหน้าที่เงินเยนญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นจากโซน 148 เยนต่อดอลลาร์ จนเข้าใกล้ระดับ 145 เยนต่อดอลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นจนทดสอบโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ 

 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ34.30-34.45 บาท/ดอลลาร์ 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com