Economies

EY เปิดผลสำรวจผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง  ชี้โอกาสของธุรกิจค้าปลีกสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี AI 
5 พ.ค. 2567

EY เปิดผลสำรวจ  EY Future Consumer Index (FCI) ฉบับที่ 13    ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคกว่า 22,000 ราย ใน 28 ประเทศ โดยมีผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน3,000 ราย และ ผู้บริโภคในประเทศไทย 1,000 ราย โดย  95% ของผู้บริโภคไทยมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น และ  92% ของผู้บริโภคไทยชะลอการใช้จ่าย เพื่อรองานลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ในครั้งถัดไป

 

ในขณะที่ผู้บริโภคไทยเพียง 22% ยอมรับในโปรโมชั่นและข้อเสนอที่สร้างขึ้นโดย AI ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้ค้าปลีกต้องเร่งสร้างความเชื่อใจในเทคโนโลยีดังกล่าวกับผู้บริโภค

 

ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นกำลังมีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จากผลสำรวจพบว่า  95% ของผู้บริโภคชาวไทย (89% ในอาเซียน และ 94%ทั่วโลก) มีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟ  ค่าก๊าซ ค่าน้ำประปา ค่าน้ำมันและเชื้อเพลิงรวมไปถึงสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือนและ 74% ของผู้บริโภคชาวไทย (69% ในอาเซียน และ49% ทั่วโลก) เลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ขณะที่ 62% (55% ในอาเซียน และ 51% ทั่วโลก) ได้ลดการใช้จ่ายสำหรับสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นลง

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่พิจารณาลดค่าใช้จ่ายในหมวดหมู่เครื่องประดับแฟชั่นมากที่สุด (65% ในไทย 59% ในอาเซียน และ 61% ทั่วโลก) สำหรับผู้บริโภคชาวไทย พิจารณาลดค่าใช้จ่ายในสินค้าหมวดเสื้อผ้าและรองเท้าเป็นอันดับสอง (57%) ตามด้วยสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเป็นอันดับสาม (53%) ในขณะที่ผู้บริโภคในอาเซียนและทั่วโลก จะลดค่าใช้จ่ายสินค้าประเภทของเล่นและเครื่องมืออุปกรณ์ gadgets เป็นอันดับสอง (47% ในอาเซียน และ 51% ทั่วโลก) ตามด้วยเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเป็นอันดับสาม (45% ในอาเซียน และ 41% ทั่วโลก)

 

Olivier Gergele, EY Asean Consumer Products and Retail Leaderกล่าวว่า  “ค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความกังวลเรื่องการออมเงิน ทำให้ใช้จ่ายน้อยลง และหาวิธีลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตสินค้าและผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีก (CPR) ควรทบทวนกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งในด้านสินค้าและราคาให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป”

 

นริศรา พัตนพิบูล หัวหน้าสายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ EY ประเทศไทย กล่าวว่า “แรงกดดันทางเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยรัดกุมกับการใช้จ่ายมากขึ้น ลำดับความสำคัญของสิ่งจำเป็น และลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ผู้ประกอบการกลุ่ม CPR จึงจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยการเพิ่มการใช้ช่องทางออนไลน์ มีบริการจัดส่งสินค้า และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของลูกค้า”

 

@งานและกิจกรรมลดราคาครั้งใหญ่ช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค แต่การช้อปปิ้งออนไลน์คือสิ่งที่ขาดไม่ได้

งานลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ยังเป็นกิจกรรมที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง 72% ของผู้บริโภคชาวไทย (77% ในอาเซียน และ61% ทั่วโลก) ยินดีที่จะเข้าร่วมงานดังกล่าว โดยผู้บริโภคชาวไทยมากถึง 92% (อาเซียนและทั่วโลก 71%) เลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าบางอย่างจนกว่าจะถึงงานลดราคาครั้งถัดไป

 

การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้บริโภคเนื่องจากมีข้อเสนอที่น่าสนใจ และสามารถทำรายการซื้อขายได้จริงโดย 59% ของผู้บริโภคชาวไทย (56% ในอาเซียน และ 50%ทั่วโลก) ซื้อสินค้าส่วนใหญ่ผ่านช่องทางออนไลน์ และมีเพียง 5%เท่านั้น (4% ในอาเซียน และ 10% ทั่วโลก) ที่เลือกซื้อสินค้าในร้านค้าเป็นหลัก หากพิจารณาข้อมูลเฉพาะของไทย จากรายงานผลการศึกษา FCI โดยเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี 2565และปี 2566 พบว่า รูปแบบการใช้จ่ายซื้อสินค้าเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยผู้บริโภคนิยมการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 21% ส่วนการซื้อสินค้าที่ร้านลดลง 16%

 

นริศรา กล่าวว่า “การเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทค้าปลีก  ผู้ค้าปลีกจึงจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ Omnichannel โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น AIและ Big Data เพื่อเพิ่มยอดขาย กำไร และเสริมสร้างความภักดี(Customer loyalty) ให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ค้าปลีกต้องทำให้ชีวิตของผู้บริโภคง่ายขึ้น เช่นการให้บริการซื้อสินค้าที่ใช้งานง่าย และมีบริการจัดส่งสินค้าที่ราบรื่น”

 

@โอกาสเพิ่มความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี AI

 

จากการสำรวจ มีการสอบถามว่า AI มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างไร ผู้บริโภคชาวไทยเพียง 16% (19% ในอาเซียนและ 18% ทั่วโลก) ที่ระบุว่ามีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ AIและการใช้งานเทคโนโลยีนี้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ผู้บริโภคมีความไว้วางใจคำแนะนำที่มาจาก AI น้อยลง โดยผู้ตอบแบบสอบถามไม่ถึงหนึ่งในสาม (22% ในไทย 29% ในอาเซียน และ 21% ทั่วโลก) ไว้วางใจในโปรโมชั่นและข้อเสนอที่มาจาก AI เช่นเดียวกับที่ไม่เชื่อมั่นในการแนะนำสินค้า จากประวัติการซื้อสินค้าที่ผ่านมาของผู้บริโภค (21% ในไทย 28% ในอาเซียน และ 22% ทั่วโลก)

 

Gergele กล่าวว่า ”สำหรับธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและค้าปลีก ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์โดย AI จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการแนะนำสินค้าและการสื่อสารทางการตลาดที่ตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคล และ AI ยังช่วยให้บริหารจัดการด้านซัพพลายเชนได้คล่องตัวขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทานในตลาดได้ล่วงหน้า ทำให้สามารถปรับการผลิตและการจัดจำหน่ายให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าปลีกต้องได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค โดยทางหนึ่งที่ทำได้คือการสร้างความไว้วางใจในด้านการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความโปร่งใสในการเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลของผู้บริโภค”

 

นริศรา กล่าวเสริม ว่า ”อนาคตของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์ขึ้นอยู่กับการใช้นวัตกรรมและสร้างความไว้วางใจได้อย่างสมดุล โดยผู้ค้าปลีกต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า รวมถึงความโปร่งใสในการใช้ AI ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์ของ AI จะส่งผลดีต่อลูกค้าและธุรกิจ โดยจะช่วยยกระดับประสบการณ์ให้ลูกค้า และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ”

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com