Economies

กนง.ขึ้นดอกแบี้ยอีก  0.25% สู่ระดับ 2% ชี้แนวโน้มขึ้นดบ.ต่อหรือไม่ ขึ้นกับข้อมูลใหม่ที่ออกมารวมถึงนโยบายรัฐบาลใหม่
31 พ.ค. 2566

กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ตามคาด สู่ระดับ 2% มีผลทันที เผยเศรษฐกิจขยายต้วดีต่อเนื่อง แรงส่งจากท่องเที่ยว-บริโภค ส่วนส่งออกค่อยๆฟื้น ส่วนเงินเฟ้อชะลอลง แต่หมวดอาหารยังตกค้าง ดึงเงินเฟ้อพื้นฐานสูง คาดต้องใช้เวลานานกว่า ชี้แนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยตาอหรือไม่  ขึ้นกับข้อมูลเศรษฐกิจ-นโยบายรัฐบาลใหม่-ความไม่แน่นอนต่างๆที่มีสูง 

 

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง. ในวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี  จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที  เนื่องจากเห็นว่า  เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน
เป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง  แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง  ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน 

 

"คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ 

 

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ2567 ตามลำดับ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน และเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชนด้านการส่งออกทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้  และคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่แม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังมีทิศทางขยายตัว ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน

 

"แนวโน้มเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวชัดเจน โดยยังคงใกล้เคียงกับการประมาณการเดิมที่มองไว้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  โดยแรงขับเคลื่อนหลักๆ มาจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ ส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับเร่งตัวจากฐานที่ต่ำ ความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทำให้มีความเชื่อมั่นการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัว แต่จะเป็นการขยายตัวได้ในปีหน้า"

 

อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากแรงกดดันจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไป จึงต้องติดตามพฤติกรรมการปรับราคาของผู้ประกอบการที่อาจเปลี่ยนไป

 

"แม้ว่าเงินเฟ้อภาพรวมจะปรับลดลงอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และมีความหนืดมาก ทั้งยี้ โดยเฉพาะส่วนที่มาจากอาหาร ซึ่งจะต้องใช้เวลานานกว่าจะลดลง 

ดังนั้น กนง.ยังคงต้องเฝ้าระวังการตั้งราคาของผู้ประกอบการ และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อด้วย"

 

สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ และภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

 

ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลง จากต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่า ส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการอ่อนค่าของเงินหยวน รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย 

 

นายปิติ กล่าวถึง ทิศทางระยะข้างหน้าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อหรือไม่ ว่า  อัตราดอกเบี้ยทร่แท้จริง (ดอกเบี้ยนโยบาย หักอัตราเงินเฟ้อ) ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่(Emerging Markets) กรณีเศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีศักยภาพอยู่ที่ระดับ  4% ดอกเบี้ยที่แท้จริงจะต้องเป็นบวก และสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว  ส่วนของไทยในภาวะเศรษฐกิจมีดุลยภาพและเงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมาย  อัตราดอกเบี้ยแท้จริงจะต้องเป็นศูนย์ถึงบวก แต่เวลานี้ ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเล็กน้อย  เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่  แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเท่าก่อนโควิด-19 แต่มีช่องว่างเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่เติบโตตามศักยภาพ  ซึ่งที่ผ่านมา กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 6 ครั้งติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 2% เป็นนโยบายการเงินที่อยู่ในระดับเหมาะสม โดยรวมคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะกลับเข้าสู่ระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวศักยภาพของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยภาพรวมใน การดำเนินนโยบายการเงินที่ทำมายังเหมาะสมที่จะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวโน้มข้อมูลเศรษฐกิจด้วย ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในทุกด้านค่อนข้างมากอย่างไรก็ตาม  เป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน มั่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้เต็มศักยภาพและยัางยืน โดยเงินเฟ้อคงอยู่ในเป้าหมายที่ยั่งยืน และภาวะการเงินที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน 

 

"คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อด้านสูง จึงเห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ
ในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้"

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com