"NDID" ประกาศความสำเร็จระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน "บุคคลธรรมดา" กว่า 9 ล้านรายการ ครอบคลุมผู้ให้บริการทั้งภาครัฐ และเอกชน เตรียมก้าวสู่เฟส 2 ยืนยันตัวตน "นิติบุคคล" พร้อมจับมือ มาสเตอร์การ์ด เปิดมิติใหม่เชื่อมต่อแพลตฟอร์มให้บริการข้ามประเทศครั้งแรกของโลก
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานกรรมการ บริษัทเนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด (NDID) กล่าวว่า จากก้าวแรกที่สมาคมธนาคารไทย บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมก่อตั้ง NDID เพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ให้สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ยกระดับการทำธุรกรรมทางดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการรับรองทางกฎหมายในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บนโลกดิจิทัล บนพื้นฐานของการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบวงจร ตลอดจนยกระดับการบริหารความเสี่ยงทั้งของธนาคารและภาคธุรกิจ
“NDID ถือเป็นทางเลือกของประชาชนในการยืนยันและพิสูจน์ตนเองต่อหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ และในอนาคตอันใกล้ จะสามารถให้บริการทั้งในบริบทของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุมหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในชีวิตประจำวัน อาทิ การเงินและการลงทุน ประกันภัย สาธารณสุข โทรคมนาคม และการศึกษา เป็นต้น” ประธานกรรมการ NDID กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ในปี 2564 NDID มีการใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลธรรมดาผ่าน NDID แล้วมากกว่า 9 ล้านรายการ ผ่านผู้ให้บริการกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยปี 2565 จะขยายขอบเขตการให้บริการสู่เฟสที่ 2 คึอ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนนิติบุคคล ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกการทำธุรกรรมของบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และในเฟส 3 จะพัฒนาสู่ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนชาวต่างชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการและติดตามความคืบหน้าในด้านต่างๆ ตลอดจนการรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานของ NDID ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ NDID ได้ประกาศอีกก้าวแห่งความสำเร็จ โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ Master Card ซึ่งมี Digital ID Platform ระดับโลก เพื่อร่วมกันศึกษาการเชื่อมต่อสองแพลตฟอร์ม และเปิดมิติใหม่การให้บริการ Digital ID ทำรายการข้ามระหว่างประเทศ หรือ Cross Border Digital ID โดยคาดว่าจะสามารถเชื่อมต่อแพลตฟอร์มได้ภายในปีนี้ และนำร่องให้บริการในประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก่อนจะขยายไปประเทศอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ NDID จะศึกษาการเชื่อมต่อระหว่างสองแพลตฟอร์ม ทั้งด้านเทคนิค กฏหมาย และกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของโลก ที่มี Digital ID ทำรายการจริงข้ามประเทศระหว่างกัน โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ อำนวยความสะดวกต่อลูกค้าของ มาสเตอร์การ์ด และ NDID ในวงกว้าง
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)กล่าวว่า หลักสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล คือ Digital ID ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงบริการได้แบบไร้รอยต่อ และเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น สอดรับกับการใช้ชีวิตยุคดิจิทัล ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การมีแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ และจากการทำงานร่วมกับ NDID ที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า แพลตฟอร์มของไทยมีความมั่นคง ปลอดภัย พร้อมแสดงศักยภาพการขยายผลไปสู่ต่างประเทศต่อไป
นางสาวไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า การที่มีอัตราการเข้าถึงประสบการณ์ด้านดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ให้บริการต่างต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่มีมากขึ้นด้วย อาทิ การฉ้อโกงบัญชีออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงความคาดหวังในการนำเสนอประสบการณ์แบบไร้รอยต่อให้กับผู้บริโภค ทำให้มีความต้องการในการใช้เครื่องมือที่ชาญฉลาด ปลอดภัย และเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เพื่อยืนยันตัวตนบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกปลอดภัย ขณะที่ธุรกิจต่างๆ ก็รู้สึกอุ่นใจว่าได้รับการคุ้มครอง
“บทบาทของโซลูชั่นการระบุอัตลักษณ์แบบดิจิทัลจึงทวีความสำคัญขึ้น และประเทศไทย ที่ได้ก่อตั้ง NDID ขึ้น ก็ได้ทำการพัฒนาระบบที่มีความเหมาะสมกับผู้ประกอบการในประเทศ ID by มาสเตอร์การ์ด เป็นเครือข่ายที่ใช้ในการยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถใช้งานได้หลายฝ่าย ช่วยให้บุคคลธรรมดาสามารถสร้าง บริหารจัดการ และใช้ข้อมูลอัตลักษณ์ดิจิทัลของตนเองผ่านระบบต่างๆ เครือข่ายดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้งานได้ทั่วโลก มีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติเพื่อรองรับการใช้งานในระบบที่แตกต่างกันได้”