Economies

คาดเงินบาท 37.20-37.45 บาท/ดอลลาร์ หวั่นสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย เสี่ยงเกิด Earning Recession  
23 ก.ย. 2565

Krungthai Global Market  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ 37.20-37.45 บาท/ดอลลาร์ นักลงทุนยังกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย เสี่ยงเกิดภาพ Earning Recession  


ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.35 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์


คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย ประเมินแนวโน้มค่าเงินบาท คาดวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 37.20-37.45 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนต่อเนื่อง เงินบาทก็ยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่า และอาจทดสอบโซนแนวต้าน 37.40-37.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงนี้ได้ 


อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัดได้ หากนักลงทุนต่างชาติชะลอการเทขายสินทรัพย์ไทยและเริ่มกลับเข้ามาเป็นฝั่งซื้อสุทธิมากขึ้น ซึ่งล่าสุด เราเริ่มเห็นสัญญาณการขายที่ลดลงทั้งในฝั่งตราสารหนี้และหุ้น โดยเฉพาะในฝั่งหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิราว 2.3 พันล้านบาทในวันก่อนหน้า ทว่า เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าไปมากได้ในระยะสั้น หากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทอาจยังพอมีโซนแนวรับแถว 37.20 บาทต่อดอลลาร์
 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
 

ความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่าแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ อาจแย่ลงและเสี่ยงที่จะเกิดภาพ Earning Recession ได้ ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างเดินหน้าลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง โดยเฉพาะหุ้นสไตล์ Growth อย่าง Nvidia -5.3%, Tesla -4.1%, Amazon -1.0% กดดันให้ดัชนี S&P500 ยังคงปรับตัวลดลงราว -0.84% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการเข้าซื้อหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare (Eli Lilly +4.9%, Merck +3.5%) รวมถึงแรงซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ในจังหวะย่อตัว (Microsoft และ Alphabet +0.9%)
 

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ดิ่งลงกว่า -1.79% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง (ล่าสุด เฟด, ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางอังกฤษ ต่างเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมเงินเฟ้อ) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนกันยายน ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ -28.8 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาด
 

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่า รายงานภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ล่าสุด ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 213,000 ราย ดีกว่าที่ตลาดคาด ยังคงหนุนแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และช่วยให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 3.71% อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวจะยิ่งทำให้การกลับเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในอนาคตอาจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง
 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงแรงสู่ระดับ 110.6 จุด กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อย่างรวดเร็วสู่ระดับ 140.4 เยนต่อดอลลาร์ จากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น ก่อนที่ดัชนีเงินดอลลาร์จะรีบาวด์ขึ้นกลับสู่ระดับ 111.2 จุด ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้เล่นในตลาด ทั้งนี้ ความผันผวนรุนแรงของเงินดอลลาร์ยังได้ส่งผลให้ราคาทองคำผันผวนหนักเช่นกัน โดยราคาทองคำปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,690 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงต่อเนื่อง กลับสู่ระดับ 1,670-1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า ราคาทองคำอาจพอได้แรงหนุนจากผู้เล่นบางส่วนที่ต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ราคาทองคำอาจพอยืนเหนือโซนแนวรับ 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ แต่โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าว ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้เช่นกัน
 

สำหรับวันนี้ หลังจากที่ตลาดได้รับรู้ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางไปแล้ว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนกันยายน โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดคาดว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจหดตัวในอัตราชะลอลง หนุนโดยการใช้จ่ายของผู้คนที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะสอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่ยังคงขยายตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (S&P Global Services PMI) เดือนกันยายน อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 45.5 จุด จาก 43.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวต่อเนื่อง ในอัตราชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ยังสูงอยู่ โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 51.3 จุด จากระดับ 51.5 จุด ในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)
 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการของยูโรโซนและอังกฤษ จะยังคงสะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจยุโรป ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและภาวะชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนในเดือนกันยายน อาจปรับตัวลงต่อสู่ระดับ 48.7 จุด และ 49 จุด ตามลำดับ
 

และนอกเหนือจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีในวันอาทิตย์ โดยผลโพลล่าสุดสะท้อนว่า พรรค Brothers of Italy ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลปัญหาการเมืองยุโรปมากขึ้นได้
 
 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com