Economies

ทำไมแบงก์ชาติไม่ควรตรึงค่าเงิน
24 ก.ย. 2565

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัว Pipat Luengnaruemitchai หลังค่าเงินบาทอ่อนหลุดเกิน 37 บาทต่อดอลลาร์ จนมีข้อเสนอให้แบงก์ชาติกลับไป #ตรึงค่าเงิน ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ โดยให้เหตุผลว่า ทำไมแบงก์ชาติไม่ควรตรึงค่าเงิน โดยระบุว่า....


ระยะหลังเราเห็นแนวโน้ม #ค่าเงินบาท อ่อนค่าลงไปค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดหลุดไปเกิน 37 บาทต่อดอลลาร์แล้ว อ่อนที่สุดตั้งแต่ปี 2006 

 

จนมีข้อเสนอให้แบงก์ชาติกลับไป #ตรึงค่าเงิน ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ เพราะกลัวว่าค่าเงินจะไหลไปเกิน 50 บาทเหมือนยุคต้มยำกุ้ง 


ข้อเสนอดังกล่าวค่อนข้างน่าเป็นห่วง ถ้ามีแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองแบบนั้นจริงๆ

 

ลองมาไล่กันนิดนึงว่านโยบายแบบนั้นทำได้จริงหรือไม่ 

 

อัตราแลกเปลี่ยนคือ ราคาเปรียบเทียบของเงินสกุลหนึ่งเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง และเป็นเครื่องมือสำคัญในการรองรับ shock ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ การไปพยายามตรึงค่าเงินจึงเป็นการสะสมความไม่สมดุล และอาจจะนำไปสู่การปรับครั้งใหญ่ คล้ายๆที่เกิดกับวิกฤตต้มยำกุ้งได้
ค่าของเงินถูกกำหนดโดย demand และ supply ของเงินสกุลนั้น 

 

เช่น demand เงินบาทก็คือความต้องการซื้อเงินบาท เช่น การส่งออกสินค้าและบริการ  หรือ #เงินทุนเข้าประเทศ ที่อาจจะเข้ามาลงทุนหรือเก็งกำไร

 

ส่วน supply ก็คือความต้องการเอาเงินบาทออก เช่น การนำเข้าสินค้าและบริการ หรือ #เงินทุนไหลออก

 

ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนตามตลาดอยู่ที่ 37 แปลว่า demand และ supply ตกลงราคากันอยู่แถวนั้น การตรึงค่าเงินที่แข็งกว่าที่ตลาด (เช่น 35) คือให้แบงก์ชาติไปตั้งโต๊ะเงินซื้อบาท ในราคาที่แพงกว่าตลาดอยากจะขาย (หรือ ขายดอลลาร์ในราคาถูกกว่าที่ตลาดอยากจะซื้อ) 
แน่นอนก็คงตรึงอัตราแลกเปลี่ยนได้ในระยะสั้น แต่ถ้าปัจจัยพื้นไม่เปลี่ยน คงมีคนเอาเงินบาทมายกให้ แลกกับดอลลาร์ จน reserves หมดหน้าตักได้กันง่ายๆ

 

ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อค่าเงินบาทก็เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่สะท้อนดุลการค้าสินค้าและบริการ (รวมถึงการท่องเที่ยว) และดุลบัญชีทุน ที่สะท้อนความน่าสนใจของต่างชาติมาลงทุนในไทย และคนไทยไปลงทุนต่างประเทศ (ทั้งลงทุนทางตรง เงินกู้ ลงทุนในหุ้นและพันธบัตร)

 

ซึ่งแม้จะมีคนบอกว่า #ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน แต่ทั้งในทฤษฎีและปฏิบัติก็ต้องยอมรับว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญต่ออัตราแลกเปลี่ยนแน่ๆ โดยเฉพาะถ้าส่วนต่างนั้นใหญ่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

นึกภาพว่าวันนี้ ใครเอาเงินไปฝากสามเดือนดอลลาร์ได้เกิน 3% แล้ว ฝากเงินบาทได้ 0.55% แม้จะมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าไม่คิดว่าบาทจะแข็ง เอาเงินไปฝากดอลลาร์น่าสนใจมาก ถ้าคนเอาออกเยอะๆบาทก็อ่อน ยิ่งส่วนต่างตรงนี้ใหญ่ขึ้น ยิ่งทำให้ทางเลือกนี้เย้ายวนขึ้นไปอีก

 

ถ้าถามว่าเราตรึงค่าเงินให้นิ่งนานๆ ได้ไหม คำตอบก็คือได้ แต่แบงก์ชาติคงต้อง #แทรกแซงค่าเงิน กันมากกว่านี้ และเราต้องยอมเห็นทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นลงตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดและปัจจัยพื้นฐาน

 

ในประเทศที่ตรึงค่าเงินไว้กับเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง ก็ต้องยอมสละอัตราดอกเบี้ยให้ขยับตามดอกเบี้ยของประเทศนั้น เช่น ถ้าจะยึดค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ต้องเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นไปตาม Fed จะมานั่งคิดนั่งเลือกคงไม่ได้

 

ดังนั้น ถ้าวันนี้เราอยากเห็นค่าเงินแข็งขึ้น เราก็คงต้องลุ้นให้การท่องเที่ยวกลับมาเยอะๆเร็วๆ เร่งเสริมสร้างการแข่งขันของประเทศ ทำประเทศให้น่าสนใจ น่าลงทุน หรืออาจจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นไม่ให้ส่วนต่างใหญ่ขนาดนี้

 

การแทรกแซงค่าเงินทำได้แค่ชะลอ หรือลดความผันผวนระยะสั้นเท่านั้น แต่จะยืนท้าลมแรงๆนานๆคงไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าปัจจัยพื้นฐานไม่สอดคล้องกัน

 

นี่คือหลัก impossible trinity เลย

 

หรือไม่งั้นก็ต้องใช้ capital control ปิดประเทศกันไปเลย แต่ต้นทุนคงใหญ่มหาศาลทีเดียว และไม่ work ในระยะยาวอยู่ดี

 

#เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี นโยบายทุกอย่างมีต้นทุนเสมอ

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com