ผู้ว่า ธปท. ยอมรับหลังตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ ทำให้คาด GDP ปี 65 อาจโตแค่ 3% โดยปัจจัยการท่องเที่ยวฟื้นเป็นตัวแปรหนุน
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/65 ที่ขยายตัวได้ 2.5% ต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ ดังนั้น จึงคาดว่า เศรษฐกิจเศรษฐกิจไทยทั้งปี 65 อาจจะขยายตัวได้ราว 3% และปี 66 จะขยายตัวเพิ่มมาที่ 4% ซึ่ง ธปท.จะมีการคาดการณ์ตัวเลขใหม่อีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้จากเดิมประมาณการไว้ที่ขยายตัว 3.3%
"ต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้งว่าจะอยู่ที่เท่าไร แต่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ออกมา 2.5% ต่ำกว่าคาด ทำให้ต้องดู เพราะยังมีหลายปัจจัย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน 7 เดือนแรกต่างชาติเข้าไทย 3.2 ล้านคน คาดทั้งปีนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน และยังมีการใช้จ่ายในประเทศที่เริ่มกลับมาดี จากการอัดอั้นการใช้จ่ายช่วงก่อนหน้าและรายได้เริ่มฟื้นตัว" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ส่วนความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ผลกระทบต่อไทยอาจไม่ได้โหดร้าย เพราะที่ผ่านมาไทยพึ่งพาจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีต่อเนื่องและภาคการท่องเที่ยวที่จะมาผลักดันเศรษฐกิจไทยจากนี้ ซึ่งในด้านอุปสงค์มาจากรายได้ประชาชนดีขึ้น และที่สำคัญคือการท่องเที่ยวที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีภาคท่องเที่ยว 12% ของจีดีพี และคิดเป็น 20% ของการจ้างงาน ทำให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม และจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
"มองว่าความเสี่ยงที่จะกระทบด้านการท่องเที่ยวได้นั้น ไม่ใช่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่จะเป็นเรื่องโรคระบาดการกลายพันธุ์มากกว่าที่น่าเป็นห่วง เพราะคนอาจไม่กล้าเดินทาง" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต่อไป จะปรับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การส่งผ่านนโยบายไปยังธนาคารพาณิชย์เป็นสิ่งที่อยากเห็น แต่ด้วยบริบทเศรษฐกิจไทยที่พึ่งฟื้นตัว และยังมีความเปราะบางในบางกลุ่มโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีรายได้ต่ำ ทำให้อยากเห็นธนาคารพาณิชย์ปรับดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน
"เชื่อว่ากลไกสถาบันการเงินจะทำงานได้เอง ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะเป็นหลัก การส่งผ่านดอกเบี้ยที่ผ่านมา มักจะค่อนข้างเร็ว และการส่งผ่านเศรษฐกิจต้องใช้เวลา 2 ไตรมาสกว่าจะเห็นผล" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยต้องดูบริบทของไทยทั้ง 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 2.ระดับเงินเฟ้อของไทย และ 3.โครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องให้แน่ใจว่ากลไกธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้ต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อยู่ระดับดีเมื่อเทียบกับในอดีต และดีเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แต่อาจยังติดขัดในบางจุด เช่น การเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอี
ดังนั้น จึงต้องยังมีมาตรการเฉพาะจุด ทั้งสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ที่จะหมดอายุมาตรการเดือนเม.ย. 66 ซึ่งหากจำเป็นต้องต่อก็จะขยายเวลาออกไป โดยมาตรการที่มีอยู่เชื่อว่าเพียงพอ แต่ต้องขึ้นกับการผลักดันให้เกิดประสิทธิผลอย่างมาตรการแก้หนี้ และไกล่เกลี่ยหนี้ด้วย
นายเศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือน เพราะเป็นเรื่องที่อยู่กับไทยมายาวนาน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนเพิ่มถึง 30% และการแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลา โดยเป็นห่วงกลุ่มเปราะบาง และครัวเรือนรายได้ต่ำมากที่สุด เพราะยังฟื้นตัวช้า แต่ยืนยันว่าหนี้ครัวเรือนไม่ได้กระทบเสถียรภาพ และไม่ได้เกิดวิกฤติสถาบันการเงิน
"ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ธปท.เห็นว่าต้องแก้ด้วยรายได้ แต่ในด้านการแก้หนี้ก็ต้องดำเนินการด้วย แต่ถ้ารายได้ไม่มา ก็ไปใม่รอด ดูองค์รวมการแก้หนี้ต้องให้เศรษฐกิจฟื้นได้ ต้องให้รายได้กลับมา ถ้าเงินเฟ้อหรือรายจ่ายสูง ก็กระทบกับความสามารถชำระหนี้ ซึ่งการแก้หนี้มีหลายส่วน" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ส่วนความผันผวนของค่าเงินบาทนั้น เป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น แต่ความผันผวนในช่วงนี้ มาจากความผันผวนของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เพราะเงินดอลลาร์สหรัฐขึ้นอยู่กับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สิ่งที่ทำได้คือต้องไม่ทำให้เงินบาทผันผวนสูงและรวดเร็ว เพื่อให้เอกชนสามารถปรับตัวรับมือได้
"ยอมรับว่าความผันผวนของเงินบาท มาจากเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มชัดว่าขึ้นไปสูงสุดแล้ว ทำให้บรรยากาศตลาดเริ่มชัดขึ้น ทำให้มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงิน สกุลเงินในภูมิภาค ทำให้เงินบาทเปลี่ยนไป ซึ่งช่วงนี้มีเงินไหลเข้ามา แต่ยืนยันว่ายังไม่เห็นการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในด้านเงินไหลเข้า-ไหลออก" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรระยะสั้น 4,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งช่วงแรกตลาดกังวลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูง จึงทำให้เงินไหลออก แต่ขณะนี้ตลาดน่าจะเป็นห่วง เพราะมีเงินไหลเข้า จากเงินบาทเริ่มแข็งค่า