ธปท. ชี้เศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ชะลอจากเดือนก่อนหน้า ภาพรวมไตรมาส 2 ยังขยายตัวดีกว่าไตรมาสแรก แต่มีลักษณะไม่ทั่วถึง เผยครึ่งปีหลัง ฝากความหวังไตรมาส 4 GDP โตใกล้ 4% ได้แรงจากส่งออก เงินดิจิทัล วอลเลต ที่หมุนรอบระบบดัน GDP เล็กน้อย และฐาน GDP ต่ำในไตรมาส 4/66 ระบุเงินดิจิทัล วอลเลต ออกฤทธิ์ ศก.ขยายตัวปี 68
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในไตรมาส 2 ยังอยู่ในทิศทางขยายตัวจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนชะลอลงจากจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับการส่งออกสินค้าลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่อยู่ในช่วงปลายฤดูกาล และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สินค้าคงคลังยังสูง สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ด้านการบริโภคภาคเอกชนทรงตัว โดยการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนที่ขยายตัวถูกทอนลงด้วยหมวดสินค้าคงทนที่หดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนจากหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด จากราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับราคาผักลดลงตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องทั้งในภาคบริการและการผลิต
นางสาวชญาวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 มีทิศทางขยายตัวจากไตรมาสก่อน แต่การขยายตัวยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ การจ้างงาน และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากไตรมาสก่อน ประกอบกับการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเช่นกัน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกและการผลิตในบางอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างจากความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยลง ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงจากรายจ่ายประจำ หลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจากหมวดพลังงานตามการทยอยลดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และจากหมวดอาหารสดตามอุปทานผักและเนื้อสุกรที่ลดลง ขณะที่อัตราเฟ้อพื้นฐานลดลงจากราคาอาหารสำเร็จรูปและของใช้ส่วนตัว
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลใกล้เคียงไตรมาสก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นตามการส่งออกสินค้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้และเงินโอนกลับมาขาดดุลจากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงและการส่งกลับกำไรตามฤดูกาล สำหรับการจ้างงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนตามการจ้างงานในภาคบริการเป็นสำคัญ
“การส่งออกหวังว่าครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะไตรมาส 4 จะมีการฟื้นตัวของการส่งออก ที่เป็นการค้าสินค้ากลับมาดีได้ตามภาพรวมของโลก ที่ผ่านมา การส่งออกในประเทศที่ผลิตสินค้าต้นน้ำเยอะๆ ได้รับอานิสงส์แล้ว แต่เราอาจยังได้รับไม่เยอะ เพราะส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย ธปท.จับตาดูและติดตามใกล้ชิด ปัญหาเชิงโครงสร้าง หากยังมีอยู่และยังไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้อานิสงส์เชิงบวกอาจยังได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนดิจิทัลวอลเล็ต ในเชิงเทคนิคมองว่าจะหมุนรวมในระบบเศรษฐกิจ แต่ ธปท. ยังไม่ได้ใส่ในประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4 เพิ่มจีดีพีได้ประมาณ 0.3-0.4% เป็นแรงส่งในปี 2568 ที่ผลเชิงบวกน่าจะไปอยู่เยอะมากกว่า หากประเมินในวงเงินทั้งโครงการจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.9% ในแง่การเติบโตของจีดีพีมองว่ายังสามารถขยายตัวบวกขึ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งมาฐานปี 2566 ที่ไตรมาส 4 ชะลอตัวด้วย ทำให้ในช่วงไตรมาส 4 นี้ จีดีพีอาจโตใกล้ๆ 4% ด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินทุน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นได้ เพราะเป็นบรรยากาศที่ขึ้นๆ ลงๆ“