กสิกรไทย ชี้ "เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี" ไม่มีปัญหา มองเป็นมุมบวกสะท้อนไทยมีการดำเนินการตามหลักนิติธรรม ระบุงบประมาณปี 66 ผ่านแล้ว หนุนรัฐลงทุนตามแผนได้ไม่สะดุด แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วง 1 เดือนข้างหน้า แกว่งตัว 35.30-36.90 บ./ดอลลาร์ เกาะติดเดือนก.ย. คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ส่วนไทยอาจชะลอการขึ้นดบ. ส่วนไทยอาจคงดบ. ส่วนต่างที่กว้างทุก 0.25% กระทบเงินบาทอ่อน 0.31 บ./ดอลล์ จับตาข้อมูลภาคท่องเที่ยวขยายตัว หนุนค่าเงินบาทพลิกลับมาแข็งค่าปิดสิ้นปีที่ 35 บ./ดอลลาร์
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ "นายกรัฐมนตรี" นั้น มองว่าไม่กระทบมาก และมีมุมมองเชิงบวกมากกว่า เพราะทุกอย่างล้วนมีกระบวนการมีขั้นตอนที่เป็นกลไกรองรับสถานการณ์นี้ตามหลักนิติธรรม รวมถึงตัวนายกฯก็มีผู้รักษาการแทน ทำให้ความกังวลเรื่องสูญญากาศในการบริหารบ้านเมืองไม่สะดุดและสามารถรับมือได้ ส่วนด้านการลงทุนใหญ่ของรัฐบาลในระยะถัดไป คงไม่มีผลกระทบมากนักเนื่องจากงบประมาณปี 2566 ได้ผ่านไปแล้ว ดังนั้นจึงสามารถเดินหน้าตามแผนงานได้ นอกจากนี้สถานการณ์โควิดในไทยสามารถควบคุมได้มากขึ้น จึงเชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติจะม่องในเชิงบวกมากกว่า เพราะแทนที่จะฝากความหวังไว้กับคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท คงขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทย เรื่องความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทางด้านการค้าและภาวะเศรษฐกิจ อาจทำให้เกิดภาวะคอขวดของด้านอุปทานมีผลลบมากขึ้น ธนาคารกลางของอังกฤษได้พยากรณ์ว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ยังมีควันหลังของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีอยู่จากการใช้มาตรการ Zero Covid
"ทิศทางค่าเงินบาทในช่วงต่อจากนี้ เรายังคงเป้าหมายค่าเงินบาทที่ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ภายในสิ้นปีนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทเป็นเรื่องภาคการท่องเที่ยว ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบันมีเข้ามาประมาณ 4.5 ล้านคน หากคงแรงส่งนี้ต่อไปได้ น่าจะช่วยให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ ในช่วงเดือนกันยายน คาดเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ค่าเงินก็มีโอกาสที่จะผันผวน เราคาดว่าในช่วง 1 เดือนข้างหน้า เงินบาทจะอยู่ที่ 35.30-36.90 ยาท/ดอลลาร์ และจะกลับมาแข็งค่าได้สิ้นปีนี้ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ จากแรงสนับสนุนของภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งคาดว่าปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7 ล้านคน ซึ่งจะสร้างรายได้และทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่า"
ด้านส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยและเฟดที่กว้างมากขึ้นนั้น นายกอบสิทธิ์ มองว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นทุก 0.25% จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าราว 0.31 บาท สำหรับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารประเทศไทย (ธปท.) ทางกสิกรไทยประเมินว่า อาจจะขยับดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือปีนี้ ซึ่งอาจจะเว้นช่วงการขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนกันยายนนี้ และคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งน่าจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐ แคบลงไปได้ และส่งผลต่อค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าในปลายปี อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามตัวเลขภาคท่องเที่ยวที่จะออกมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กสิกรไทยคาดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ที่ 2.9%