ศูนย์วิจัย KRUNGTHAI COMPASS ธนาคารกรุงไทย และ ทีม GLOBAL MARKET ธนาคารกรุงไทย คาดเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 65 ที่ 2.4% แม้เดือนก.พ. เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นถึง 5.28% แต่น่าจะยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจนกว่าจะกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติ
- กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 5.28% หลังราคาสินค้าพลังงานและราคาอาหารต่างปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ระดับฐานราคาในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนหน้าก็อยู่ในระดับที่ต่ำมาก จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐในปีก่อนหน้า
- เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นต่อในระยะสั้น ตามระดับราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะค่อยๆ ชะลอตัวลงได้ในไตรมาส 2 หากสงครามไม่ได้บานปลายและยืดเยื้อจนกดดันให้ราคาสินค้าพลังงานเร่งตัวขึ้นจากปัจจุบันไปมาก ทั้งนี้ ภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะช่วยหนุนเงินเฟ้อพื้นฐาน ทำให้เฉลี่ยทั้งปี 2565 เงินเฟ้อจะสูงกว่าระดับ 2.0% แน่นอน
- อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวสูงขึ้นมากกว่าที่เราคาดการณ์ แต่เราคงมุมมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะให้น้ำหนักการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ ดังนั้นเราจึงคาดว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ในปีนี้ เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจนกว่าจะกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติ ซึ่งผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกดดันเศรษฐกิจไทยผ่านการท่องเที่ยวหรือการบริโภคภาคเอกชน ผ่านราคาสินค้าพลังงานที่สูงขึ้น จะยิ่งทำให้ กนง. อาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปีนี้
-
กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 5.28% เร่งตัวขึ้นจากระดับ 3.23% ในเดือนมกราคม สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก
- กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนล่าสุด เร่งตัวขึ้น 1.06% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดย การเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหารที่ปรับตัวขึ้นราว 1.4% โดยเฉพาะราคาอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านที่พุ่งขึ้นมากกว่า 4% (น้ำหนักบนตะกร้าเงินเฟ้อราว 16%) ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวลดลง -1.7% หลังจากเร่งตัวขึ้นก่อนหน้า นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องกว่า +4.8% ก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ส่วนราคาสินค้าอื่นๆ โดยรวมทรงตัวและเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้าง ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มทยอยดีขึ้น
- เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 5.28% จาก 3.23% ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อ หนุนโดยจาก ราคาสินค้าพลังงานที่พุ่งขึ้นกว่า +29.2% ทั้งราคาน้ำมันดิบและราคาแก๊สธรรมชาติต่างก็ปรับตัวขึ้นจากความกังวลสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นตาม ทำให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยรวมเพิ่มขึ้น 5.3% นอกจากนี้ ฐานราคาสินค้าโดยรวมที่ต่ำมากในปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ก็มีส่วนหนุนให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น
- กระทรวงพาณิชย์ คงมุมมองว่า อัตราเงินเฟ้อมีผันผวนสูงและอาจแกว่งตัวในกรอบกว้าง โดยมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มราคาสินค้าพลังงาน รวมถึงแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักหลังการทยอยเปิดประเทศ ขณะเดียวกันทางรัฐบาลก็เตรียมมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประชาชน ทำให้เงินเฟ้ออาจชะลอลงอยู่ในระดับเหมาะสมได้ ซึ่ง กระทรวงพาณิชย์จะปรับคาดการณ์เงินเฟ้ออีกครั้งในเดือนมีนาคม
เราปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2565 มาที่ 2.4% หลังราคาสินค้าพลังงานอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด แต่เงินเฟ้อจะยังไม่ใช่ปัจจัยที่กดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย
- เรามองว่า แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตามการเปิดประเทศจะช่วยหนุนการใช้จ่ายและช่วยให้อัตราเงินเฟ้อฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นการทยอยฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อย่างไรก็ดี ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าพลังงานมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนหน้าได้นานกว่าคาด โดยราคาสินค้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบอาจอยู่ในระดับสูงกว่า 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจนถึงช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะยิ่งทำให้ราคาสินค้าต้นทุนการผลิตและค่าไฟฟ้าอาจปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี จะอยู่ระดับ 2.4% นอกจากนี้ เรามองว่า รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและพยายามคุมราคาสินค้าที่จำเป็นซึ่งจะช่วยคุมระดับเงินเฟ้อไม่เร่งตัวขึ้นไปมากได้
- แม้เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด และเฉลี่ยทั้งปีอาจสูงกว่าค่ากลาง 2% ของเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่เราคงมองว่า แนวโน้มเงินเฟ้อยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มากเท่ากับ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะยิ่งทำให้ ธปท. ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และคงมองว่า ธปท. สามารถคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ตลอดปี 2565 เพื่อประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการบริการที่มีโอกาสฟื้นตัวดีขึ้นและอาจกลับสู่สภาวะปกติได้ในปี 2566
- อย่างไรก็ดี กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด หากการเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าไม่ได้กระจุกตัวในสินค้าเพียงบางกลุ่มและเริ่มมีการเร่งตัวขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งกรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี ซึ่งเรามองว่ายังไม่ใช่ภาพที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทว่าหากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้แข็งแกร่งและเร็วกว่าคาด ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็อาจทำให้ ธปท. สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่เราประเมินไว้ เช่น การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกอาจเกิดขึ้นในปลายปีนี้ เป็นต้น (เราคงมอง ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกไตรมาส 2 ปี 2566)
ที่มา: ศูนย์วิจัย KRUNGTHAI COMPASS ธนาคารกรุงไทย
และ ทีม GLOBAL MARKET ธนาคารกรุงไทย