Economies

ทิสโก้แนะเพิ่มพอร์ต “ตราสารหนี้” รับอัตราผลตอบแทนสหรัฐพุ่ง หนีเศรษฐกิจสหรัฐทรุด สภาพคล่องลด  
31 ก.ค. 2566

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้แนะลูกค้าเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตราสารหนี้ รับผลตอบแทนเด่น โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปัจจุบันให้ผลตอบแทนสูงถึง 3.8% ขณะที่หุ้นเตรียมปรับลงจาก 3 ปัจจัยรุมเร้า คือ 1.เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง 2.อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond yield) ที่กลับมาอยู่ในระดับสูง และ 3.สภาพคล่องลดลง 

 

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า  ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีหลังจะถูกกดดันจาก 3 ประเด็น ได้แก่ 1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง 2. อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond yield) ที่กลับมาอยู่ในระดับสูง และ 3. สภาพคล่องลดลง โดยคาดว่า 3 ปัจจัยลบดังกล่าวจะทำให้ช่วงสิ้นปี 2566 ดัชนีS&P500 จะลงมาซื้อขายที่ระดับ 4,250 จุดจากปัจจุบันอยู่ที่  4,567 จุด ดังนั้น จึงแนะนำให้ลดการลงทุนในหุ้น และเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ที่น่าสนใจอย่าง “ตราสารหนี้" เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนสูงถึง 3.8% ต่อปี  

 

“เมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่าตราสารหนี้มีความน่าสนใจจากกระแสรายรับดอกเบี้ยที่สม่ำเสมอ และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคา (Capital gains) ตามเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวในระยะกลาง โดยปัจจุบัน Bond yield อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนสูงถึง3.8% ต่อปี  ในขณะที่คาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น หรือ Earnings yield ของ S&P500 ซึ่งเป็นส่วนกลับของค่า Forward P/E ลดลงมาต่ำกว่า 5% ส่วนต่างของคาดการณ์ผลตอบแทน (Earnings yield gap) ลดลงมาอยู่ที่ 1.2% ต่ำสุดในรอบเกือบ20 ปี ชี้ว่าตลาดอาจมีมุมมองที่ดีต่อตลาดหุ้นมากเกินไป และให้ค่าความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้นต่ำเกินไป ดังนั้น จึงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้” นายคมศรกล่าว  

 

นายคมศร กล่าวเพิ่มเติมถึงปัจจัยลบของหุ้นทั่วโลก 3 ปัจจัย  มีดังนี้ ปัจจัยแรก คือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถูกหนุนโดยภาคบริการที่ยังโตแข็งแกร่งจากเงินออมส่วนเกินซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐฯ เช่น การแจกเงินให้เปล่ากับประชาชนในช่วงที่มีการระบาดของ COVID ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่เงินออมสะสมยังมากกว่าปกติอย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ประเมินว่าเงินออมส่วนเกินนั้นจะหมดลง ซึ่งจะทำให้การบริโภคโดยเฉพาะภาคบริการอ่อนแอลงในช่วงครึ่งหลังของปี  

 

ปัจจัยลบประการที่สองได้แก่ Bond yield ที่กลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากที่ปรับตัวลดลงไปทำจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ 3.2%  ซึ่งประเมินว่าถึงแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ แต่ Fed ก็ยังจะส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะ ซึ่งจะทำให้ Bond yield ทรงตัวที่ระดับใกล้เคียง 4% ไปตลอดทั้งปีและเป็นแรงกดดันต่อมูลค่าหุ้น (Valuation) ในช่วงครึ่งหลังของปี 

 

และปัจจัยลบประการสุดท้าย ได้แก่ สภาพคล่องที่มีแนวโน้มลดลงจากทั้งการออกพันธบัตรเป็นจำนวนมากเพื่อชดเชยเงินคงคลังของสหรัฐหลังปัญหาเพดานหนี้จบลงประกอบกับการถอนสภาพคล่องออกจากระบบของทั้ง Fed และ ธนาคารกลางยุโรป(ECB) รวมไปถึงความเสี่ยงจากการปรับเปลี่ยนนโยบาย Yield curve control ของ BoJ ให้เข้มงวดขึ้นอีกด้วย 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com