ที่ประชุม กกร. มีมติคงคาดการณ์ GDP-ส่งออก-เงินเฟ้อ ในกรอบเดิม แม้ไทยต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน แต่มองท่องเที่ยว-ส่งออกฟื้นหนุนเศรษฐกิจ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยถึงผลการประชุม กกร.ในวันนี้ ว่า ที่ประชุมคงประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 ขยายตัวในกรอบเดิม 2.5 - 4.0% ส่งออกขยายตัว 3.0-5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวในกรอบ 3.5-5.5% แม้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง รวมทั้ง ต้นทุนและเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การท่องเที่ยวและการส่งออกที่ยังขยายตัวจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี
สำหรับภาพรวมการส่งออกเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกยังเติบโตได้อยู่ในระดับ 9.9% ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ Supply ยังสามารถไปได้ แต่ยังประสบภาวะราคาค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
ขณะที่การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แม้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะฉุดรั้งกำลังซื้อและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะได้รับแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น การเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ค.65 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งคาดว่า เป้าหมายนักท่องเที่ยวปีนี้ที่ตั้งไว้ 6-8 ล้านคน น่าจะเป็นไปได้
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศมีสัญญาณที่ดี โดยขณะนี้ฟื้นตัวได้แล้วถึงระดับ 80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 62 ดีกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 70% และในระยะข้างหน้ายังได้อานิสงส์จากการขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่มเติม
"ที่ กกร.ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจ แม้จะประเมินว่า การส่งออกจะชะลอตัวลง เนื่องจากจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาชดเชย แต่ก็ยังกังวลเรื่องเงินเฟ้อกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งหวังว่าจะตรึงราคาไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาท และมีความเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวจะถึง 10 ล้านคน แต่สิ่งสำคัญ คือ เราต้องการนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เพราะมีกำลังซื้อสูง อย่างนักท่องเที่ยวซาอุฯ ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1 แสนบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปที่ 5 หมื่นบาท" นายสนั่น กล่าว
สำหรับวิกฤตอาหารโลกรุนแรงขึ้นจนหลายประเทศระงับการส่งออกอาหารนั้น ไทยอาจได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มเติม สงครามยูเครน และรัสเซียที่ยืดเยื้อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกในภาพรวมลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาอาหารโลกในเดือน เม.ย.65 ปรับเพิ่มขึ้นถึง 29.8%YoY ทำให้หลายประเทศเริ่มเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร และทำให้กว่า 20 ประเทศใช้มาตรการห้ามส่งออกอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวสาลี น้ำตาล และน้ำมันพืช แต่คาดว่า โอกาสที่ไทยจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารมีน้อย เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารยังน้อยกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศ อีกทั้งในปี 65 มีปริมาณสินค้าคงคลังสำหรับสินค้าอาหารสำคัญเทียบกับความต้องการในประเทศในระดับสูงกว่า หรือใกล้เคียงกับในอดีต
"การที่หลายประเทศตัดสินใจระงับการส่งออกจะเป็นโอกาสของการส่งออกสินค้าของไทย แต่ต้องมีการติดตามและบริหารจัดการสต็อกสินค้าเกษตรและอาหารที่ดี รวมทั้งบริหารจัดการไม่ให้เกิดการขาดแคลนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์" นายสนั่น กล่าว
นอกจากนี้ กกร. ได้หารือในประเด็นอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ กรณีที่สมาคมธนาคารไทย กรมสรรพากร และบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) ร่วมด้วยสถาบันการเงิน 11 แห่ง ยกระดับการยืนยันตัวตน และเชื่อมข้อมูลการให้บริการภาษี, ประเด็น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่มีผลบังคับใช้ในวันนี้จะเป็นเรื่องที่ดีและสร้างมาตรฐานให้กับการทำธุรกิจ แต่หลายฝ่ายยังคงกังวลในแนวปฏิบัติของกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกลงโทษ ตามบทลงโทษที่รุนแรงตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันกฎหมายลำดับรองกว่า 20 ฉบับ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
กกร.จึงได้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนให้ชะลอการใช้บทลงโทษจนกว่าจะออกกฎหมายลำดับรองที่จำเป็นครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนในการปรับปรุงระบบที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ภาครัฐควรเน้นการประชาสัมพันธ์ สร้างให้ความรู้ความเข้าใจให้ภาคเอกชนและประชาชนในการศึกษาเตรียมตัวในระยะเวลาที่เพียงพอเหมาะสม ซึ่งจะช่วยทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมย์และเป็นประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ
รวมทั้งได้หารือเรื่องแผนการเดินหน้าเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย และเห็นว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่อง Competitiveness Index ที่ IMD ศึกษามาวิเคราะห์รายละเอียด พร้อมกับทั้งทำเรื่อง BCG Bio-Circular-Green ที่สอดคล้องกับ Sustainable Development Goal เพื่อให้เกิดแผนและรูปแบบที่ชัดเจนสำหรับภาคเอกชนในการขยายผลไปสู่การดำเนินธุรกิจต่อไป
นายสนั่น กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณฯ ปี 66 ที่คาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และ GDP อยู่ในระดับสูง ว่า การคาดการณ์เศรษฐกิจนั้น อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน แต่คาดการณ์ของ กกร.นั้น มีความเป็นห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อจากราคาพลังงาน แต่หากรัฐบาลมีมาตรการดูแลก็จะเป็นผลดี แต่หากปล่อยตามกลไกตลาดน่าจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นแน่นอน
"ที่จัดสรรงบลงทุนไว้น้อยก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจ การชะลอการลงทุนลงมาอาจเป็นการเพลย์เซฟ แต่เมื่อมีโอกาสก็เริ่มกลับมาลงทุนใหม่ คิดว่า หากสงครามยุติต้องมีการลงทุนแน่นอน" นายสนั่น กล่าว
ตอนนี้มีนักลงทุนด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐขนาดใหญ่ที่มีพนักงานราว 2 หมื่นคน สนใจที่จะเข้ามาตั้งฐานในไทย และพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย และในช่วงบ่ายวันนี่จะไปร่วมต้อนรับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งคาดว่า จะมีโอกาสได้หารือถึงความร่วมมือเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าจีน-ลาว