นายแบงก์ใหญ่ "ชาติศิริ" ชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ย กระทบระบบการเงินโลก และคงเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศไทย เชื่อ ธปท.ตรึงดอกเบี้ย 0.50%ถึงสิ้นปีนี้ เพื่อดูแลเศรษฐกิจโดยรวมให้ฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นกลับมา ลั่น BBL พร้อม "คงดอกเบี้ย" เน้นช่วยเหลือลูกค้าเดินหน้า คาดปีนี้ปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้า 4-6% โต 2 เท่าของ GDP มั่นใจคุม NPL ไม่เกิน 4% "ดร.กอบศักดิ์" คาดสหรัฐลดงบดุล ดึงสภาพคล่องโลกกลับสู่สหรัฐ ดอลลาร์แข็ง กดดันเงินบาทอ่อนค่า 35บ./ดอลล์
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวให้สัมภาษณ์ภายหลังงานเปิดโครงการ "จานโปรด Episode ลับ" เกี่ยวกับประเด็นธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุด 0.25% ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ย เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญและมีความหมายต่อระบบการเงินโลก และคาดว่าจะยังเห็นเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลับไปสู่ระดับปกติก่อนหน้านี้ และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งเฟดก็ได้มีการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาล่วงหน้าให้ตลาดรับรู้และลดการเกิดความผันผวน แต่สำหรับเศรษฐกิจไทย จะเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.50 % จนถึงสิ้นปีนี้ รวมทั้งสามารถดูแลเศรษฐกิจโดยรวมให้ฟื้นตัวได้อย่างดีก่อน โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่กำลังกลับมา
"ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ก็จำเป็นต้องช่วยดูแลลูกค้า ขณะที่เงินเฟ้อสูงจากราคาสินค้าหลายอย่างที่เพิ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นผลจากการเกิดดิสรัปชั่นอย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ธุรกรรมต่างๆติดขัด แต่เชื่อว่าอีกระยะหนึ่งก็จะปรับตัวไปและมาตรการต่างๆที่ออกมาน่าจะช่วยให้ดีขึ้นได้ "นายชาติศิริกล่าว
ประกอบกับปีนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นมาตามลำดับ รัฐบาลก็ได้มีการดูแลออกมาตรการต่างๆดำเนินการฉีดวัคซีน มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 จนถึงการเปิดประเทศแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ถือเป็นการดีตีอต่อลูกค้าของธนาคาร ซึ่งธนาคารได้มีการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าในการปรับตัวทางธุรกิจให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและเดินหน้าต่อไปด้วยกันได้ ประกอบกับด้านธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ธนาคารมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ปีนี้ สินเชื่อรวมเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 4-6%
"ถ้าเป็นสินเชื่อรายใหญ่และรายย่อยขยายตัว 4-6% ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 1-3% สอดคล้องกับ GDP (อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ขยายตัว 3-4 % สำหรับเรื่องหนี้ NPLของธนาคาร คิดว่าจะคุมไม่ให้เกิน 4% ในปีนี้ หลังจากที่ไตรมาสแรก NPL อยู่ที่ระดับ 3.3% โดยธนาคารยังคงบริหารจัดการหนี้เสียเองซึ่งทำได้ดีอยู่แล้ว ส่วนแนวทางจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์นั้น ได้มีการดูไว้เป็นออฟชั่น ด้านการตั้งสำรองหนี้ฯไตรมาสแรก (ราว 6.5 พันล้านบาท) ต่ำกว่าปีก่อนนั้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ปรับตัวดีขึ้น แต่ก็เป็นการตั้งสำรองที่มีความระมัดระวังอยู่ ในช่วงที่เหลือก็คาดว่าจะตั้งสำรองพอๆกับไตรมาสแรก ทั้งปีนี้ คาดว่า ธนาคารจะตั้งสำรองรวมประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้่ว"
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ผ่านมา เป็นไปตามคาดการณ์ ซึ่งประธานเฟดได้มีการส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แต่เนื่องจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์ในตลาดมองว่า มีแนวโน้มจะเห็นเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มีความกังวลว่าจะเกิดวิาภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นดาวโจนส์ร่วงแรงถึง 1,000 จุด ซึ่งประเด็นดังกล่าว คงต้องรอเวลาพิสูจน์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตามที่สังสัญญาณหรือจะปรับเป็น 0.75% ในระยะข้างหน้าเพราะมีปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นและเป็นข้อจำกัดที่เยอะขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเฟดล่าสุด ของการปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล (QT) ถือว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทั่วโลกแน่นอน จะเห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลออกจากประเทศต่างๆ และกลับไปสู่สหรัฐ ดังนั้น ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางแข็งขึ้นได้อีก และเงินบาทยังอ่อนตัวได้อีกบ้างเช่นกัน ซึ่งอาจจะอ่อนตัวไปถึงระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ในอดีต ธปท. เคยปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปถึงระดับ 35-36 บาท/ดอลลาร์เช่นกันในหลายปีก่อน