ธปท. คาดเศรษฐกิจปี 65 ขยายตัวได้ 3.3% และปี 66 จะขยายตัวราว 4.2% ย้ำ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับต่างประเทศ เพราะบริบทเศรษฐกิจการเงินต่างกัน
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/65 จะสามารถเติบโตได้มากกว่า 3%
โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ มูลค่าการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 14.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ราว 1.5 ล้านคน ซึ่งคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 6 ล้านคน
ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวได้ 3.3% และปี 66 จะขยายตัวราว 4.2%
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง คาดทั้งปีอยู่ที่ระดับ 6.2% จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผ่านต้นทุนกระจายไปยังสินค้าหลายหมวด
ในด้านนโยบายการเงิน แม้เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง ซึ่งนโยบายดอกเบี้ยไม่สามารถจัดการได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตามการขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า นโยบายการเงินจะดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นในระยะข้างหน้า แต่ในทางกลับกันหากเงินเฟ้อสูงขึ้นอีก แต่เรายังไม่ปรับดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงลดลงไปอีก กลายเป็นเราเหยียบคันเร่งให้เศรษฐกิจ และนโยบายการเงินยิ่งผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงยังติดลบที่ 5.70% (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หักด้วยประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปี 65)
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว ขณะที่แรงส่งที่จะทำให้เงินเฟ้อติดยังมีไม่มาก อีกทั้งเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยจึงยังไม่ช้า ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับต่างประเทศ เพราะบริบทเศรษฐกิจการเงินต่างกัน
โดยรวม การปรับนโยบายและมาตรการทางการเงินของธปท.ในระยะต่อไป จะยังเน้นการมองภาพเศรษฐกิจการเงินที่เชื่อมโยงอย่างรอบด้าน และมีความยืนหยุ่นตามสถานการณ์ เพื่อให้การทยอยปรับนโยบายที่เข้าสู่ภาวะปกติในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยที่มีผลกระทบน้อยที่สุด