Economies

เงินบาทอ่อนค่าลงอีก เปิดเช้านี้ 37.11 บาท/ดอลลาร์
4 ต.ค. 2566

ค่าเงินบาทยังอ่อนต่อเนื่อง เปิดเช้านี้ที่ระดับ 37.11 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.25 บาท/ดอลลาร์ จับตาไฮไลท์สำคัญ เศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  37.11 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  37.04 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 37.02-37.16 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับของสหรัฐฯ (JOLTs Job Openings) ทั้งนี้ แม้ว่า ยอดตำแหน่งงานเปิดรับจะเพิ่มขึ้น สูงกว่าที่ตลาดคาดพอสมควร ทว่า การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของทั้ง Quit Rate และ Hire Rate (ซึ่งมักจะสอดคล้องกับแนวโน้มอัตราการเติบโตของค่าจ้าง) ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคง “แข็งแกร่ง” หรือไม่ ทำให้โดยรวม เงินดอลลาร์และราคาทองคำยังคงแกว่งตัว sideway อนึ่ง เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้บ้าง หลังราคาทองคำได้ปรับตัวลงทดสอบโซนแนวรับสำคัญ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งยังคงออกมาสนับสนุนแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน โดยภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทำจุดสูงสุดใหม่ใกล้ระดับ 4.80% และกดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลง นอกจากนี้ หุ้น Amazon -3.7% และ Microsoft -2.6% ยังปรับตัวลงแรงจากข่าวการทางการอังกฤษเตรียมเข้าตรวจสอบพฤติกรรมผูกขาดตลาด Cloud Computing ในอังกฤษ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -1.87% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.37% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงกว่า -1.10% กดดันโดยการปรับตัวลงแรงของหุ้นกลุ่ม Utilities และกลุ่มเทคฯ (Enel -2.5%, ASML -1.7%) ที่อ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของบรรดาธนาคารกลางหลัก นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ยังได้กดดันราคาแร่โลหะ อย่าง ทองแดง ส่งผลให้ หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ต่างปรับตัวลดลง (Rio Tinto -1.7%) และกดดันภาพรวมตลาดหุ้นยุโรป
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป รวมถึงรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.80% และแม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบปี ทว่าคำแนะนำของเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยเราคงมองว่า นักลงทุนควรทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward (มอง Total Return และ Real Yield) มีความคุ้มค่า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างมีสถานะ Short บอนด์ระยะยาวกันมาก ทำให้ หากมีปัจจัยที่ทำให้มุมมอง Higher for Longer เปลี่ยนไป เรามองว่า การทยอยปิดสถานะ Short อาจช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลงได้ไม่ยาก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 107 จุด (กรอบ 106.9-107.6 จุด) โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะผันผวนแข็งค่าขึ้นบ้าง จากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัด ส่วนหนึ่งมาจากทั้งแรงขายทำกำไรของผู้เล่นตลาด รวมถึงความเคลื่อนไหวของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ดูจะมีความผิดปกติ จนทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนมองว่า ทางการญี่ปุ่นอาจได้เข้าแทรกแซงค่าเงินในคืนก่อน ทำให้เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นหลังอ่อนค่าทะลุระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้ง่ายและยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,838 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวลงของราคาทองคำใกล้โซนแนวรับหลัก จะทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Nonfarm Employment) และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดได้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า RBNZ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.50% หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่เริ่มชะลอลงบ้าง ขณะที่ราคาทองคำเริ่มมีสัญญาณพร้อมรีบาวด์สูงขึ้น ก็อาจช่วยชะลอโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง ทำให้ เรายังคงประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทในช่วงโซน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงมีความผันผวนและยังมีทิศทางไหลออก ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทได้ในช่วงนี้ จนกว่าจะเห็นการกลับตัวของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยและลดแรงขายบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ส่วนในฝั่งหุ้น เรายังคงมองว่า แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสชะลอลง หลังดัชนี SET ได้ปรับตัวลงมาพอสมควร จนในเชิง Valuation ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่แพง (เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเน้น buy on dip และเลือกลงทุนในหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐ)

อย่างไรก็ดี ควรจับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังจากที่เงินเยนญี่ปุ่นได้เคลื่อนไหวผันผวนผิดปกติในช่วงคืนก่อนหน้า จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า ทางการญี่ปุ่นอาจเริ่มเข้าแทรกแซงค่าเงิน อนึ่ง เรามองว่า แม้ทางการญี่ปุ่นจะเข้าทำการแทรกแซงค่าเงินจริง แต่ก็ไม่อาจทำให้เงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาแข็งค่าได้อย่างยั่งยืน จนกว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีการปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น ทว่า ความผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่นก็อาจส่งผลให้ต่อตลาดค่าเงินโดยรวมได้

ทั้งนี้ ควรระมัดระวัง ความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ (ซึ่งจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจส่วนใหญ่กว่า 70% อยู่ในภาคการบริการ)

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.25 บาท/ดอลลาร์

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com