ธปท. จ่อปรับลด GDP ปี 66 ในรอบการประชุม กนง. เดือนกันยายน จากที่คาดโต3.6% ชี้ช่วงที่เหลือปีนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่แรงมาก เหลือแค่ภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก ภาคส่งออกฟื้นช้าเกินคาด การใช้จ่ายภาครัฐเห็นผลปีหน้า พร้อมติดตาม 3 เสี่ยง 'ศก.คู่ค้าชะลอ-นโยบายกระตุ้นศก.-ภัยแล้งกระทบราคาสินค้าเกษตร' ส่วนแจกเงินดิจิทัล หมุนรอบศก. ต่ำกว่า 1 รอบ
นายสักกะภพ พันธยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นจากทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนหนึ่งการบริโภคได้รับผลดีจากช่วงวันหยุดยาว นอกจากนี้ กิจกรรมในภาคบริการก็ยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามภาคท่องเที่ยว สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว) ที่
ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 2.49 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 0.9% จากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงจากหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเกษตรเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและหมวดอาหารสดปรับลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าลดลงตามมูลค่าการส่งออกเป็นสำคัญ ทั้งนี้ 7 เดือนแรกปีนี้เกินดุลฯ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
"เดือนกรกฎาคม เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลงเล็กน้อย จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนยังเพิ่มขึ้นยืนระดับ 50 สะท้อนว่า ภาคธุรกิจยังมีความมั่นใจอยู่ ส่วนผลสำรวจผู้ประกอบการ BIS เดือนสิงหาคมนี้ ในภาพรวมปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนนกรกฎาคม หลักๆปรับลดลงจากภาคที่ไม่ใช่ภาคการผลิต แต่หากมองไปข้างหน้า ความเชื่อมั่นฯ ปรับดีขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมนี้ ยังต้องพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคส่งออกสินค้ายังมีความเสี่ยง คาดในไตรมาส 3 ส่งออกยังไม่เป็นบวก แต่จะไปเห็นในไตรมาส4 นี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอยู่ แต่ไม่ได้ แรงมากๆ จากภาคส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าคาด ซึ่งการปรับประมาณการณ์ GDP ปีนี้ ยังตอบไม่ได้ว่าเท่าไหร่ (สำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายๆแห่งคาดโตต่ำกว่า 3%) ประเด็นนี้ต้องรอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาในที่ประชุมเดือนกันยายน แต่คงมีการปรับพอสมควรจากคาดการณ์ปัจจุบัน ขยายตัวที่ 3.6% อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า 2567 คาดว่า GDP จะเติบโตได้มากกว่าปีนี้ จากภาคท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวยังเข้าไทยอยู่ และคาดเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา จะเห็นเครื่องยนต์ภาคต่างๆขับเคลื่อนไปหมด"นายสักกะภพ กล่าว
สำหรับในระยะถัดไป ธปท. ยังต้องติดตาม 3 ประเด็น ได้แก่ 1 การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า 2 นโยบายของรัฐบาลใหม่ ซึ่งนโยบายแจกเงินดิจิทัลราว 5 แสนล้านบาท โดยปกติการใส่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบจะเกิดเงินหมุน (Multiplier)ในเศรษฐกิจ 1 รอบ คิดเป็น 3% ของ GDP แต่ในกรณีเงินโอน จะไม่ถึงสัดส่วนนี้ และ 3 ติดตามผลกระทบจากภัยแล้งต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร"
ทั้งนี้รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย เดือน ก.ค. 2566 มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ อาทิ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวรัสเซียที่มีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างรัสเซียและไทยมากขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวบางสัญชาติ อาทิออสเตรเลีย สิงค์โปร และยุโรป ปรับลดลงเล็กน้อย
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดบริการและสินค้าไม่คงทนเป็นสำคัญ ทั้งการใช้จ่ายในหมวดโรงแรมและภัตตาคารและหมวดขนส่งผู้โดยสาร และยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจาก ช่วงวันหยุดยาว ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับดีขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้างจากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนด้านคมนาคม ขณะที่รายจ่ายประจำทรงตัวจากปีก่อน โดยรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการขยายตัว แต่รายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรลดลงหลังเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากผลของฐานสูงตามการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านคมนาคมในปีก่อน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติหลังจากเร่งไปแล้วในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง ปรับเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปฮ่องกงและสหรัฐฯ 2) ทุเรียนไปจีนที่ลดลงตามผลผลิตที่หมดฤดูกาล และ 3) เคมีภัณฑ์ไปจีนและอาเซียน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นหลังปัญหาด้านอุปทานทยอยคลี่คลาย รวมทั้งหมวดเกษตรแปรรูปที่เพิ่มขึ้นตามการส่งออกอาหารกระป๋องไปสหภาพยุโรปและอาหารสัตว์ไปจีน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นในหลายหมวด หลังจากชะลอลงในช่วงก่อน โดยเฉพาะการผลิตใน 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นตามการผลิตน้ำตาล 2) หมวด
ยานยนต์จากการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ และ 3) หมวดยางและพลาสติกตามการผลิตยางล้อที่เพิ่มขึ้นหลังลดลงต่อเนื่องในช่วงก่อน อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดลงตามรอบการส่งมอบสินค้า และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับลดลงจากเครื่องปรับอากาศ ที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนหมวดอาหารสดปรับลดลงจากทั้งผลของฐานสูงในปีก่อน และราคาเนื้อสุกรและผักที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามมูลค่าการส่งออกประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลของไทยมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายเดือน