ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 36.15 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าเล็กน้อย" Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ 36.10-36.30 บาท/ดอลลาร์ ลุ้นรายงานดัชนี PMIsเดือนกรกฎาคม ประเทศเศรษฐกิจหลัก
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.15 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.22 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.14-36.24 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยก็ตาม แต่เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ทยอยรีบาวด์ขึ้น จากโซนแนวรับแถว 2,380-2,390 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซนแนวต้านระยะสั้นในช่วง 2,410 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (โฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนับตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อน) อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงแกว่งตัวแถวโซน 36.10-36.15 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน) ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาดบางส่วน รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบ และโฟลว์ธุรกรรมขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติบางส่วนตั้งแต่ช่วงวันก่อนหน้า
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Tesla และ Alphabet ที่จะประกาศในช่วง After Market Hours นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ก็ยังออกมาไม่สดใสนัก อาทิ UPS, Comcast และ GM ต่างรายงานผลประกอบการแย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.16%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นบ้าง +0.13% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ โดยเฉพาะ SAP +7.2% ที่รายงานผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด ซึ่งพอช่วยลดทอนผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Shell -1.7%, Rio Tinto -1.5% ที่เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบและแร่โลหะพื้นฐานส่วนใหญ่ จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน รวมถึงข่าวความคืบหน้าการเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซา
ในส่วนตลาดบอนด์ การเคลื่อนไหวโดยรวมของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีลักษณะ sideways ไม่ต่างจากที่เราประเมินไว้ โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถว 4.25% โดยผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ ในสัปดาห์นี้ ก็จะมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ PCE อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผลการประชุมเฟด 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน-ต้นเดือนหน้า อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นได้ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นจังหวะที่น่าพิจารณา “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาวได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หนุนโดยท่าทีระมัดระวังตัวของบรรดาผู้เล่นในตลาดและจังหวะการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่โซน 104.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.3-104.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 2,410 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนกรกฎาคม ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ในฝั่งญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ระหว่างเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน (โซน 36.40 บาทต่อดอลลาร์) กับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน (โซน 36.10 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น ทว่า เงินบาทก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นการกลับมาอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ควรจะออกมาแย่กว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ หรือ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (Risk-On) นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง น้ำมันดิบ และโฟลว์ธุรกรรมขายสินทรัพย์ไทยในช่วงนี้ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทำให้โดยรวมเงินบาทก็ยังคงมีโซนแนวต้านแถว 36.35-36.40 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวรับของเงินบาทก็อาจอยู่ในช่วง 36.10 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.30 บาท/ดอลลาร์