ธปท. ย้ำเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน ยังห่วงภัยแล้งกระทบราคาอาหาร เงินเฟ้อเสี่ยงสูง ชี้GDP โตต่ำ เพราะขาดการลงทุน ไม่ใช่เรื่องบริโภค มอง แจกเงินดิจิทัล-พักหนี้ควรทำเฉพาะกลุ่มไม่ใช่แจกวงกว้าง ย้ำรัฐบาลรักษาวินัยการคลัง ชูตัวอย่างสหรัฐไร้งินัยคลังถูกหั่นเครดิตประเทศ
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้เห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่อาจจะช้ากว่าประเทศอื่น ส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินก็ต้องมองไปข้างหน้า ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวม แนวโน้มเงินเฟ้อก็ยังคงเพิ่มขึ้น ยังมีความเสี่ยงด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้น และที่เป็นห่วงคือ ภัยแล้งจากเอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร อาหารและอุปสงค์ต่างๆจากการท่องเที่ยว ยังกดดันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอยู่ แม้เงินเฟ้อเคยพุ่งไป7.9% เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ตอนนี้ทยอยปรับลดลงมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องใส่พิจารณาเพิ่ม โดยนโยบายฯที่ดำเนินการจะคำนึงถึงเสถียรภาพ 3 ด้าน หลักคือ เสถียรภาพด้านราคา ด้านระบบการเงินและด้านเศรษฐกิจ
"การดำเนินโยบายการเงินจะต้องให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในระยะยาว Neutral Rate เป็นระดับที่เงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% และไม่ก่อให้เกิด Search for Yield (แสวงหาผลตอบแทนสูงหรือเก็งกำไร) สิ่งที่จะเน้น คือการปรับนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติ ให้ก่อนโควิด เพราะช่วงโควิดหลายๆประเทศมีการเหยียบคันเร่ง(กระตุ้นเศรษฐกิจ) แต่ตอนนี้ เขาก็ถอนคันเร่งกันแล้ว ทำนโยบายการเงินและการคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ"
สำหรับนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผู้ว่าการ ธปท. ให้ความเห็นว่าต้องรอดูความชัดเจนของรูปแบบที่จะออกมาใช้ก่อน และได้ปฏิเสธว่า เงินดิจืทัล ที่รัฐบาลจะทำนั้น รูปแบบจะผสมกับโครงการ CBDC ที่ธปท. ดำเนินการอยู่ไม่ได้ เนื่องจาก ธปท. ตั้งโครงการนี้เเื่อทำการศึกษา ไม่ได้นำมาใช้เป็นการทั่วไป
ส่วนการแจกเงินดิจิทัลมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ถ้าเู GDP ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โต 1.8% ต่ำกว่าที่คาด เพราะว่าสิ่งที่ขาดไปเป็นเรื่องการลงทุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องการบริโภคเลย และคิดว่าถ้าจะทำนโยบายแจกเงินนี้ก็ควรทำเฉพาะกลุ่มจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มากเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้เงิน 10,000 บาท
ดร. เศรษฐพุฒิให้ความเห็นต่อนโยบายพักหนี้ของรัฐบาลที่จะออกมา ว่า การพักหนี้ควรเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ได้ แต่ไม่ควรใช้เป็นเครื่องมือหลักและไม่ควรใช้พักหนี้เป็นวงกว้าง เพราะจะมีผลกระทบข้างเคียงสูง จึงต้องดูให้พอเหมาะสม โดยเห็นว่านโยบายนี้ อาจเหมาะกับคนมีศักยภาพในการชำระหนี้อยู่แล้ว แต่เกิดปัญหาชั่วคราวมากกว่า อย่างไรก็ตามขึ้นกับรูปแบบที่รัฐบาลจะทำด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยและผลกระทบในการออกนโยบาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทาฝการเงินการคลัง หรือผลข้างเคียงด้านอื่นๆ
การทำนโยบายต่างๆ รัฐบาลควรต้องฉายภาพในระยะกลางของการทำมาตรการแล้วได้อะไร รายจ่าย หนี้ การขาดดุล ให้เห็นชัดเจน จะแสดงให้เห็นถึงวินัยทางการคลังที่จะบริหารให้อยู่ในกรอบได้ ก็จะเรียกความเชื่อมั่นได้ ฉะนั้น จึงมีความกังวลเป็นพิเศษ คือ เสถียรภาพทางการคลัง ดูจากตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลง เนื่องจากปัญหาขาดวินัยการคลัง จนมีหนี้สาธารณะสูงเกินเพดาน ถือเป็นโจทย์สำคัญ ที่รัฐบาลควรต้องออกนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป