ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินการเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-36.00 บาทต่อดอลลาร์ จับตาไฮไลท์สำคัญ ผลการประชุมเฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.67 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 35.54-35.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการย่อตัวลงของราคาทองคำ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ยังคงสะท้อนแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้ออย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจทำให้เฟดยังไม่สามารถรีบ “ลด” ดอกเบี้ยลงได้เร็วอย่างที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม จากเดิมที่เคยมองไว้ว่าจะเป็นการประชุมเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว -125bps ในปีหน้า
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด อาจทำให้เฟดยังไม่สามารถส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนธันวาคม แต่อย่างน้อยก็ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมุมมองเดิมว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้พอสมควรในปีหน้า ซึ่งภาพดังกล่าวได้ช่วยตรึงให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 4.20% ลดแรงกดดันต่อบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่กลับมารีบาวด์ขึ้นได้บ้าง นำโดย Meta +2.8%, Nvidia +2.2% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.46%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.21% กดดันโดยการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน BP -1.4%, TotalEnergies -1.1% หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างไม่รีบปรับสถานะถือครอง เพื่อรอลุ้นผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE และ ECB) ในวันพฤหัสฯ นี้
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.25% ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.25% ได้ ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงและทรงตัวใกล้ระดับ 4.20% ทั้งนี้ เรามองว่า หากในการประชุมเฟดที่จะถึงนี้ ทางเฟดได้ย้ำจุดยืนคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน หรือ อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ ก็อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เรายังคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เนื่องจาก Risk-Reward ยังคงมีความน่าสนใจ เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟดมีโอกาสกลับมาเป็นขาลงในปีหน้า ซึ่งไม่ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยน้อยกว่า หรือ ใกล้เคียงกับที่ตลาดกำลังประเมินก็จะส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด ก่อนที่เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไร เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนหนึ่งอาจต้องการรอความชัดเจนของทิศทางนโยบายการเงินจากการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 103.8 จุด (กรอบ 103.6-104.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,996 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับระยะสั้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มาก ทำให้เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมเฟดซึ่งจะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ ราว 02.00 น. ของวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย
โดยเรามองว่า เฟดอาจ “คง” อัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้นและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการกลับสู่เป้าหมาย 2% ของเฟด ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญ จะอยู่ที่ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot Plot) ใหม่ โดยหาก Dot Plot ใหม่ของเฟด และถ้อยแถลงของประธานเฟดอาจยังคงส่งสัญญาณว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานและอาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงเยอะอย่างที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ ภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งเงินบาทและราคาทองคำได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นผลการประชุมเฟดในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ทำให้เงินบาทอาจผันผวนไปตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยได้บ้าง หากบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
ทั้งนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด เนื่องจากเรามองว่า เฟดอาจยังไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นหรือลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ โดยเฟดอาจให้เหตุผลว่า สภาวะการเงิน (Financial Conditions) ล่าสุดก็กลับมาผ่อนคลายมากขึ้น หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงพอสมควร ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจก็ยังดูดีอยู่ โดยเฉพาะการจ้างงาน และแม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่เฟดต้องการ โดยในกรณีนี้ หาก Dot Plot ใหม่ของเฟด สะท้อนแนวโน้มการลดดอกเบี้ย น้อยกว่าที่ตลาดกำลังประเมินว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว-125bps เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Repricing) ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.00 บาทต่อดอลลาร์
ในทางกลับกัน หากเฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย (ซึ่งเรามองว่า โอกาสอาจไม่สูงมาก) และ Dot Plot ใหม่ ก็สะท้อนการลดดอกเบี้ยลงในปีหน้า ที่มากกว่า Dot Plot ก่อนหน้า ก็อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง หนุนให้เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่ากลับมาสู่แนวรับแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก (แนวรับถัดไป แถว 35.20-35.30 บบบาทต่อดอลลาร์)
อนึ่ง เรามองว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รวมถึงเงินบาทและราคาทองคำในอนาคต อาจเป็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในปีหน้า
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.55-35.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด
และประเมินกรอบ 35.50-36.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด